top of page

เฟมทวิต: ดาบสองคมของการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศบนพื้นที่โซเชี่ยลมีเดีย

#เฟมทวิต เป็นคำประสมระหว่างคำ

ว่า "เฟมินิสต์" กับ "ทวิตเตอร์" ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่และใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มต่อต้านเฟมินิสม์ (anti-feminist) ชาวไทย เพื่อนำมาใช้ดูถูกและโจมตีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่แสดงความเห็นหรือทวิตข้อความเกี่ยวกับแนวคิดเฟมินิสม์ว่าไม่ใช่ “เฟมินิสต์ที่แท้จริง” แต่เป็นเฟมินิสต์เวอร์ชั่นบิดเบี้ยวที่ออกมา “เรียกร้องมากเกินไป” และไม่ได้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ แต่สนับสนุนให้หญิงเป็นใหญ่


ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ถูกกดขี่จากโครงสร้างในสังคมกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยเพศสภาพหรือเพศวิถี รวมไปจนถึงสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา หรือชนชั้น ออกมาเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพ คนเหล่านี้หนีไม่พ้นการถูกตีตราโดยผู้ที่ไม่ได้เดือดร้อนจากการกดขี่ว่า “งี่เง่า” “เกรี้ยวกราด” “ไม่มีเหตุผล” หรือ “เรียกร้องมากเกินไป” และถูกแปะป้ายด้วยชื่อเรียกเสียดสีต่างๆ อย่างเช่น “เฟมทวิต” เป็นต้น


เนื่องจากสังคมไทยไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงออกทางการเมือง โซเชี่ยลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์ จึงเป็นหนี่งในไม่กี่พื้นที่ที่คนไทยมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สามารถระบายความหงุดหงิดต่อความอยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับลักษณะของระบบทวิตเตอร์ที่เน้นการแชร์ต่อข้อมูลผ่านการรีทวิต ทำให้ความตระหนักรู้ต่อปัญหาสังคมต่างๆ ถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว หลายประเด็นร้อนในทวิตเตอร์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแพลทฟอร์มนี้เท่านั้น แต่กลายเป็นที่สนใจของผู้คนและได้รับการนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นภาษีผ้าอนามัย การทำแท้ง หรือความรุนแรงในครอบครัว ขยายบทสนทนาสู่ผู้คนจำนวนมากนอกพื้นที่สังคมออนไลน์ ดังนั้นหากไม่มีเหล่า “เฟมทวิต” ที่มาโหมกระแสความเท่าเทียมทางเพศแล้ว ความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอาจจะไม่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางขนาดนี้


ทว่าหากมองอีกมุมหนึ่งทวิตเตอร์ก็เป็นดาบสองคม เนื่องจากทวิตเตอร์ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเอื้อแก่การต่อบทสนทนา ด้วยสาเหตุว่า 1. มีการจำกัดตัวอักษรต่อหนึ่งทวิต ทำให้แต่ละทวิตมีเนื้อความสั้น ผู้เขียนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นที่ซับซ้อนได้สะดวก 2. ไทม์ไลน์ของทวิตเตอร์มีการอัพเดทอยู่ตลอด ทำให้ประเด็นบนทวิตเตอร์มาเร็วและไปเร็วเช่นกัน ดังนั้นทวิตที่ “แมส” หรือ “ไวรัล” ก็จะถูกอัลกอรึทึมของทวิตเตอร์ (ที่ถูกสร้างโดยมีจุดประสงค์ให้เข้าใจง่ายและเร็วที่สุด) เลือกให้มาอยู่บนหน้าฟีดทุกครั้ง ยังมีข้อสังเกตว่าเนื้อหาส่วนมากที่ได้รับความสนใจมักจะมีลักษณะการเขียนเชิง “ฉอด” เพราะมีเนื้อหา “ดึงดราม่า” สามารถดึงความสนใจของผู้ใช้ทวิตเตอร์ได้มากที่สุด และทวิตเหล่านี้ก็จะได้รับการรีทวิตต่อๆ ไปอย่างรวดเร็วและง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัส


นอกจากนี้ มีอีกหนึ่งข้อสังเกตว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนมากมักจะเลือกติดตามผู้ใช้คนอื่นๆ ที่มีความเห็นทางการเมืองไปในแนวทางเดียวกับตนเอง ผนวกกับที่รูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์บนทวิตเตอร์เน้นการสื่อสารทางเดียว (ทวิต รีทวิต และโควทวิต) มากกว่าการต่อบทสนทนา ทำให้ทวิตเตอร์เกิดภาวะเป็น echo chamber เป็นห้องปิดที่เต็มไปด้วยเสียงสะท้อนของคนที่คิดเหมือนๆ กัน

เมื่อกลับมาพิจารณาทวิตที่ถูกกลุ่มต่อต้านเฟมินิสม์เลือก “แคป” มานำเสนอเป็นตัวอย่างความ “งี่เง่า” ของ “เฟมทวิต” จะเห็นได้ว่าล้วนแต่ถูกดึงออกมานอกบริบท (เช่น เลือกนำเสนอเพียงทวิตเดียวจาก thread อธิบายหลายๆ ทวิตต่อกัน) ทำให้ไม่มีใครสนใจว่าทวิตๆ หนึ่งมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ของใคร หรือมีข้อมูลสนับสนุนอื่นๆ อย่างไร เกิดเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่าภาวะ context collapse (การพังทลายของบริบท) สรุปคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ เป็นช่องว่างที่เอื้อให้เกิดการสร้าง “เฟมทวิต” ขึ้นมา


ดังนั้น “เฟมทวิต” ไม่ใช่เฟมินิสต์ที่บิดเบี้ยวอย่างที่แอนตี้เฟมกล่าวหา เพราะเฟมินิสต์ไม่ได้มีแค่แม่พิมพ์เดียว ไม่ได้มี “เฟมินิสต์แท้” รูปแบบเดียวที่พอมีใครผิดแปลกไปจากแม่พิมพ์นั้นแล้วจะกลายเป็น “เฟมินิสต์ปลอม” ทันที เพราะเฟมินิสต์ไม่ใช่ขบวนการที่เป็นหนึ่งเดียว แต่เป็นการรวมตัวของปัจเจกบุคคลจากหลากหลายพื้นเพ แต่ละคนมีวิธีการแสดงออกแตกต่างกันออกไป บางคนแสดงออกอย่างประนีประนอมบ้าง ตลกบ้าง เกรี้ยวกราดบ้าง แต่สุดท้ายแล้วทุกคนมีความมุ่งหวังร่วมกันคือการขจัดความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากเพศสภาพ/เพศวิถีให้หมดไปจากสังคม


ทั้งนี้ ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นเฟมินิสต์ก็จำเป็นต้องตระหนักว่าบางประเด็นไม่ได้แบ่งออกเป็นแค่ขาว-ดำ ดี-ชั่ว หรือถูก-ผิด ชัดเจน และจำเป็นต้องตระหนักว่าบางครั้งความคิดเห็นหรือข้อโต้แย้งของตนอาจไม่สมเหตุสมผล เมื่อมีคนมาท้าทายแนวคิด หากไม่เปิดใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังเสียงของฝ่ายที่คิดต่างออกไปเลย (ไม่ว่าสุดท้ายจะหาจุดยืนร่วมกันได้หรือไม่ก็ตาม) คงไม่มีทางที่จะเกิดการพัฒนาทางความคิดได้ เช่นนั้นแล้ว “เฟมทวิต” ก็อาจจะกลายเป็นคน “ไม่มีเหตุผล” ตามข้อกล่าวหา

กระแส “เฟมทวิต” ย้ำเตือนให้ได้ย้อนกลับมาพิจารณาแนวคิดและการกระทำของตน กลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่ตนเชื่อว่าตั้งอยู่บนหลักการแห่งเหตุและผลหรือไม่ เส้นทางที่กำลังเดินอยู่จะนำไปสู่เป้าหมายแห่งความเสมอภาคทางเพศจริงหรือ หลังจากที่ได้ทบทวนความคิดของตนเองแล้ว อาจจะมั่นใจในวิถีที่กำลังเดินอยู่มากขึ้น หรือเปิดโอกาสกลับมามองความเป็นไปได้อื่นๆ ที่เรียนรู้มาใหม่ กล่าวได้ว่าการวิพากย์แนวคิดของตนด้วยเหตุและผล จะนำไปสู่การเรียนรู้และการพัฒนาตนเองและสังคม

สุดท้ายแล้ว หากต้องการจะเรียกร้องให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียม อาจไม่มีความจำเป็นต้องคอยไปแก้ต่าง เถียงเพื่อเอาชนะ หรือ “ฉอด” ทุกคนที่เข้ามาท้าทายแนวคิด แต่เลือกสื่อสารกับกลุ่มคนที่พร้อมจะรับฟังและเรียนรู้ไปพร้อมกัน นี่อาจจะเป็นหนทางที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของความเข้าอกเข้าใจกันระหว่างมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพหรือเพศวิถีใดก็ตาม

Comments


©2020 by FeministNhoi. Proudly created with Wix.com

bottom of page