ความเท่าเทียมทางเพศเมืองไทยมีไว้ให้ใคร: ว่าด้วยเรื่อง Vogue Thailand
- Feminist Nhoi
- Oct 20, 2018
- 1 min read
ประโยคหนึ่งที่เรามักได้ยินจากคนรอบตัวคือ “เมืองไทยไม่มีปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศหรอก” เพราะมองไปรอบตัวเราก็เห็นผู้หญิงมีหน้ามีตา มีการงานในสังคม เราเคยมีนายกหญิงด้วยนะ แถมยังมีอัตราส่วน CEO หญิงสูงมากจนแทบจะเยอะที่สุดในเอเชีย
แล้วปัญหาความไม่เท่าเทียมนี่มันอยู่ตรงไหน?
คำตอบของเราเสมอคือว่า ไม่ว่าด้วยสถิติผิวเผินอย่างไรก็แล้วแต่ความเท่าเทียมทางเพศในไทยที่มีให้กับผู้หญิงนั้นยังคงต่ำและ ถึงมีอยู่ก็มีให้ผู้หญิงเพียงกลุ่มน้อยๆ ยกตัวอย่างเช่น จริงอยู่ที่เรามีผู้บริหารเพศหญิงอยู่มาก แต่กลับกระจุกในกลุ่มของบริษัทครอบครัว การที่ผู้หญิงส่วนหนึ่งได้รับโอกาสเช่นนี้กลับเป็นผลจากพื้นฐานทางสังคม ดังนั้นสถิติที่มีไม่ใช่สัญญาณบ่งบอกความก้าวหน้าในทัศนคติของสังคมต่อผู้หญิงเลย แต่บ่งบอกถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ส่งผลต่อผู้หญิงและบ่งบอกในการเลือกปฎิบัติของสังคมไทยต่อผู้หญิงอย่างชัดเจน
สองสามวันที่ผ่านมาเราเห็นบทความบน Vogue Thailand ที่ต่อว่า Cara Delevingne เรื่องชุดสูทที่เธอสวมใส่ไปงานแต่งงานเจ้าหญิง Eugenie นอกจากคำเหน็บแหนมที่เขียนแทรกลง ทั้งบทความผู้เขียนได้ยัดเยียด “ความเป็นผู้หญิง” และการผลิตซ้ำข้อคิด binary โดนใช้คำว่ากาละเทศะมาบังหน้า ตัดสินว่าเธอควรหรือไม่ควรสวมชุดสูท ติเตียนและล้อเลียน การไม่นอบน้อมและทำตัวให้สอดคล้อง กับ ‘บทบาททางเพศ’ ผ่านการใส่หมวกหรือใส่เสื้อเชิ้ตผิดชนิดบ้าง อ้างว่าถ้าเธอจะสามารถแต่งตัว “ข้ามเพศ” ได้ ก็ต่อเมื่อเธอตัดสินใจ “เลือกเพศ” เหมือน Caitlyn Jenner แล้วเท่านั้น
ประโยคที่เขียนว่า “ประเด็น Diversity ที่กำลังถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นมีค่าขนาดที่ต้องหยิบยกมาเล่นหรือ” เราคิดว่าข้อความนี้สะท้อนทัศนคติของผู้เขียนบทความนี้ต่อ ผู้หญิงและLGBTQ ว่าความเท่าเทียมทางเพศสำคัญนะ แต่ไม่ได้สำคัญเท่าจารีตและประเพณี หรือว่าคุณสามารถมีเพศสภาพใดก็ได้ แต่เมื่อเข้าที่ “สุภาพ” หรือ “เป็นทางการ” คุณไม่สามารแสดงตัวตนเหล่านั้นได้เลย ต้องกวาดมันทิ้ง
ในทางกลับกัน Vogue Thailand ได้สัมภาษณ์คุณซินดี้ในแคมเปญ Don’t tell me how to dress แะเพิ่มพื้นที่สื่อในหัวข้อการคุกคามทางเพศ
เราเห็น Vogue Thailand ชื่นชมและสนับสนุนคุณแพร วทานิกา ในฐานะดีไซเนอร์หญิงไทยที่ประสบความสำเร็จ และมีความมั่นใจในตัวเอง เราชื่นใจที่เห็นสื่อไทยให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่มากขึ้น แต่เราสลดใจที่สื่อไทยพร้อมให้พื้นที่สื่อกับคนกลุ่มเดียวเท่านั้น
นั้นคือให้กับผู้หญิงที่ผ่านเช็คลิสต์การเป็นผู้หญิงที่ดีคือ มีการศึกษา ครอบครัวมีหน้ามีตา สั่งสอนมาให้เข้าใจมารยาททางสังคม มีรสนิยมทางเพศที่ “ปกติ” เป็น cis-Gender(มีเพศสภาพตรงกับที่เกิด) เธอต้องไม่แปลกไปจากระเบียบสังคม พอมีข้อเหล่านี้เราพร้อมยกผู้หญิงเหล่านี้ขึ้นแท่น ให้โอกาส ให้อาชีพ แล้วคิดว่านี่แหละคือการให้การยอมรับผู้หญิง นี่แหละคือความเท่าเทียมทางเพศ เราประสบความสำเร็จแล้ว
แต่กลุ่มคนที่ท้าทายโครงสร้างทางสังคมอย่างเกินขอบเขต เช่นผู้หญิงแบบ Cara ที่แสดงออกเรื่องรสนิยมทางเพศของตัวเองอย่างเปิดเผย หรือที่(สำหรับผู้เขียนบทความ)ไม่เข้าใจมารยาทการแต่งตัวของสังคมผู้ดีอังกฤษ หรือถ้าจะเทียบเป็นสังคมไทยคนที่มีการกระทำที่บ่งบอกถึงเศรษฐสถานะได้ว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ เหมือนว่าสำหรับผู้เขียนแล้วคนเหล่านี้ไม่สำคัญพอที่จะได้รับพื้นที่สื่อ
ซึ่งในความเป็นจริงหญิงไทยส่วนมากไม่ได้ผ่านด่านตรวจที่กล่าวถึงด้านบนเลย ซึ่งเราคิดว่าสำหรับผู้เขียน Vogue Thailand แล้วผู้หญิงไทยโดยส่วนมากก็คงไม่มี “เชิงชั้นทางสังคม” พอที่จะได้รับพื้นที่สื่อเหล่านี้ ถ้าจะมองในมุมกว้างนี้เป็นผลของการเหยียดเพศรวมกับการเหยียดชนชั้น เช่นสังคมไทยเราใช้คำว่า “สก๊อย” ในการเหยียดคนที่พูดอย่างหยาบๆ ว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้เข้าใจกฎสังคมของชนชั้นกลาง หรือมีการใช้คำว่า “เพศทางเลือก” หรือ “สาวประเภท 2” เพื่อแยกว่าใครเป็นผู้หญิง “จริงๆ” การตั้งด่านเหล่านี้กลับเป็นการจัดลำดับขั้นภายในผู้หญิงว่าใครเป็นผู้หญิงและต่อด้วยการตรวจสอบอีกว่าผู้หญิงแบบไหนควรจะได้รับการสิทธิความเท่าเทียมนี้ จนทำให้มีผู้หญิงกลุ่มน้อยที่ผ่านด่านตรวจเท่านั้นที่ได้รับสิทธิความเท่าเทียม
ทั้งที่สิทธิความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่หมากที่ถูกหยิบยื่นให้เฉพาะผู้หญิงที่มีหน้ามีตาในสังคม มันไม่ใช่ zero sum game ที่ว่าถ้ากลุ่มหนึ่งได้แล้วกลุ่มหนึ่งจะเสีย มันคือข้อคิดที่ว่าคนเราควรได้รับความเคารพและการยอมรับในตัวตนไม่ว่าคนนั้นเป็นใครและมีพื้นเพจากไหน มีนักเขียนคนโปรดชื่อ Roxane Gay เคยเขียนในหนังสือ Bad Feminist เกี่ยวกับเฟมินิสม์ไว้ ว่า
“I believe feminism is grounded in supporting the choices of women even if we wouldn’t make certain choices for ourselves.”
ที่อยากจะแปลตอบผู้เขียนบทความว่า “ฉันเชื่อว่าเฟมินิสม์คือการเคารพการตัดสินใจของผู้หญิง ถึงแม้ว่าเราเองจะไม่เลือกการตัดสินใจในสิ่งเหล่านั้นให้กับตัวเอง” ว่าเราไม่ควรใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางตัดสินผู้อื่น เพราะพลังขับเคลื่อนสังคมไม่ได้เกิดจากการติอะไร ‘ลมๆ แล้งๆ’ แต่เกิดจากการที่คนบางคนในสังคมหาญพอจะจุดฉนวนการเปลี่ยนแปลงทำให้คนอื่นๆขยับตัวตาม
เราอยากให้เพื่อนๆและสื่อไทยมองรอบตัวแล้วทำความเข้าใจว่าเรา เห็นใครในสื่อและเราไม่เห็นใครในสื่อ บ้าง เราให้เกียรติคนแบบไหนและไม่ได้เกียรติคนแบบไหนบ้าง พอเราเข้าใจตัวเอง เข้าใจสังคม มันอาจจะทำให้การเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคมง่ายขึ่้นนะ
Comments