top of page

TOKYO IDOL (2017) เข้าใจวัฒนธรรมไอดอลญี่ปุ่นผ่านมุมมองเฟมินิสต์




ไหนๆสองวันที่ผ่านมา BNK48 จัดงานจับมือทั้งที มีอะไรใน 8 วินาทีของการจับมือกับสมาชิกวง BNK48?  ทำไมสมาชิกวง BNK48 ถึงมีแฟนไม่ได้? ทำไม BNK48 ที่พึ่งมีอายุครบหนึ่งปี ถึงได้เป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จขนาดนี้? 


ถ้าต้องการที่จะเข้าใจปรากฏการณ์ BNK48 อย่างวิพากษ์วิจารณ์ผ่านมุมมองเฟมินิสต์แล้ว เราต้องย้อนไปดูประเทศที่ให้กำเนิดวัฒนธรรมไอดอล -- ญี่ปุ่น 


ดังนั้น ทางเพจจึงขอแนะนำสารคดีน่าดู TOKYO IDOL สารคดีที่ตีแผ่วัฒนธรรมไอดอลญี่ปุ่น 


ในญี่ปุ่น มีเด็กสาวที่เป็น “ไอดอล” นับหมื่นคน กรุ๊ปไอดอลที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็คงไม่พ้น AKB48 วงพี่สาวของ BNK48 เอง ที่มีสมาชิกเกือบร้อยคน เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมีงานเลือกตั้งเซนบัตสึ (สมาชิกเด่น) ประจำปีร่วมกับเหล่าๆวงน้องสาวที่ยิ่งใหญ่ (ที่สมาชิก BNK48 เองก็ได้เข้าร่วม) ถ่ายทอดสดผ่านทางฟรีทีวีญี่ปุ่น 


การเลือกตั้งเซมบัทสึนี้เองที่เป็นจุดดึงดูดของวัฒนธรรมไอดอลญี่ปุ่น ที่ “นิยาม” ของคำว่าไอดอล มีเรื่องของ “ความพยายาม” “การแข่งขัน” และ “มิตรภาพ” เป็นตัวเดินหลัก แต่เบื้องหลังตัวเดินหลักที่อบอุ่นหัวใจเหล่านั้น วัฒนธรรมไอดอลญี่ปุ่นก็มีด้านมืด ที่สะท้อนสภาพสังคมชายเป็นใหญ่ของญี่ปุ่นที่เทิดทูน “ความสดใสและความบริสุทธิ์” ของเพศหญิงได้เป็นอย่างดี 


สารคดีเรื่อง TOKYO IDOL ได้ติดตามชีวิตของ  ฮิอิรางิ ริโอะ ไอดอลใต้ดินที่มีความฝันที่จะผันตัวเป็นนักร้องอาชีพ กับเหล่าโอตะ (แฟนคลับ) ของเธอ โคจิ หนึ่งในโอตะของริโอะ  บอกว่าสิ่งที่ทำให้ตนทุ่มเทกับริโอะ คือ ความมุ่งมั่น ตั้งใจ ของเธอ เขาอยากจะสนับสนุน หนุนให้ริโอะไปถึงฝั่งฝัน คือได้เป็นนักร้องอาชีพในเร็ววัน เพราะตัวเขาเอง ที่ลำพัง เป็นเพียงพนักงานออฟฟิศที่พึ่งลาออกจากงาน ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันของตัวเองได้  พูดอีกอย่างก็คือ ไอดอลญี่ปุ่นได้กลายเป็น “ที่ยึดเหนี่ยวทางใจ” ที่มีหน้าที่เนรมิตความฝันให้เป็นจริงของเหล่าชายหนุ่มญี่ปุ่น ในยุคเศรษฐกิจซบเซานี้


นอกจากนี้ โอตะหลายๆคนเลือกที่จะชอบไอดอลมากกว่ามีแฟนจริงๆ เพราะว่าการมีแฟนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ตั้งแต่การจีบจนไปถึงการรักษาความสัมพันธ์ ในขณะที่ไอดอลมีหน้าที่ยิ้มแย้ม ให้ความบันเทิงและกำลังใจแก่โอตะเท่านั้น เพียงแค่มีเงินสนับสนุนก็สามารถได้รับความสุขจากไอดอลได้ วัฒนธรรมไอดอลจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อัตราการเกิดในญี่ปุ่นลดลงไปไม่น้อย


ไอดอลอีกคนหนึ่งที่ TOKYO IDOL นำเสนอคือ อามุ ไอดอลของวงไอดอลใต้ดิน Harajuku Story ที่มีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น สมาชิกคนอื่นๆในวง ไม่มีใครอายุเกิน 15 ปีเลยแม้ว่า อามุ จะยังเด็กมากๆ แต่ว่าเธอกับเหล่าสมาชิกในวง ก็มีงานจับมือกับเหล่าโอตะ ไม่ต่างจากวงใหญ่ๆอย่าง AKB48 ทางผู้จัดทำ TOKYO IDOL ถามอามุว่า ไม่กลัวเหรอ ที่ต้องจับมือกับโอตะที่อายุคราวพ่อของพวกเธอ อามุจัง เงียบไปพักหนึ่ง ก่อนจะตอบว่าโอตะมีหลายกลุ่มอายุ และแต่ละคนก็ไม่ได้น่ากลัว เมื่อถามโอตะ ว่าทำไมถึงชอบอามุ  อายุเป็นหนึ่งในเหตุผลหลัก เพราะการได้สนับสนุนเด็กสาว ก็เหมือนได้มีส่วนร่วมไปกับการเติบโตของเธอ สำหรับไอดอลแล้ว หากอายุเกิน 17 ปีแล้วก็ถือว่า “แก่” แล้ว เพราะวัฒนธรรมไอดอลญี่ปุ่นนั้นขาย “ความบริสุทธิ์” ของเด็กสาว เมื่อเด็กสาวถึงวัยที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หมายความว่าโอตะไม่สามารถไปคง “ความบริสุทธิ์” ของเหล่าไอดอลหญิงเหล่านั้นได้อีกต่อไป ดังนั้นไอดอลหลายๆคนใน AKB48 จึงต้องประกาศ “จบการศึกษา” หรือลาออกจากวง เมื่ออายุแตะ 25 หรือเมื่อถูกจับได้ว่ามีแฟน เป็นต้น 


ที่โอตะในญี่ปุ่นหลายๆคน โกรธเคืองที่ไอดอลไปมีแฟน จนกระทั่งเผาซีดีเพลงหรือขู่ฆ่าไอดอลจนเป็นข่าวให้เห็นบ่อยๆ ก็เพราะว่าการมีแฟนไปทำลาย “กรอบความบริสุทธิ์” ของหญิงสาว ไปทำให้ความสามารถในการมองไอดอลเป็นวัตถุสำหรับครอบครอง (objectification) ที่เป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมไอดอลญี่ปุ่นถูกทำลายไปนั่นเอง


สำหรับ BNK48 เอง เรื่องการมีแฟน ก็น้องแคน และน้องเมษา ที่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ พูดอีกอย่างก็คือ ไทยเอง ก็มีมุมมองที่ “เทิดทูนความบริสุทธิ์” ของหญิงสาว ไม่น้อยไปกว่าญี่ปุ่นเลย (อ่านบทความน่าสนใจกรณีของน้องแคน กับการ การฟ้องร้องในความเสียหายจากสัญญาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ได้ที่ )


แอดมินเพจไม่ได้ไม่ชอบวัฒนธรรมไอดอลญี่ปุ่น (เราชื่นชอบผลงานเพลง และความพยายามๆของน้องๆเอามากๆ แถมยังแอบไปงานจับมือกับเขาด้วย!) แต่อยากให้สังคมไทย รับวัฒนธรรมไอดอลอย่างมีวิจารณญาณค่ะ


หากสนใจดู TOKYO IDOL กันแบบเต็มๆ สามารถรับชมได้ผ่านทาง Netflix นะคะ




Comments


©2020 by FeministNhoi. Proudly created with Wix.com

bottom of page