top of page

โล้สำเภา casual sex ไม่ผูกมัด ผู้หญิงไม่ได้ ผู้ชายโอเค

ที่เขาว่ากันว่าเซ็กส์คืออำนาจ มันจริงหรือเปล่า? ดราม่าพี่โป๊ป กับดีเบทเรื่องถุงยางในโรงเรียนให้ข้อคิดอะไรเกี่ยวกับอำนาจ และเซ็กส์บ้าง?



เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยนั้นขึ้นชื่อเรื่องสถานบริการทางเพศ ในกลุ่มชาวต่างชาติ เป็นอันดับหนึ่งด้าน sex tourism แต่ทำไมเรื่องเพศสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันกลับกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่มีใครพูดถึง ทำเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้น

ความแตกต่างระหว่างเพศสัมพันธ์ในสองบริบทนี้คือ เพศสัมพันธ์ในสถานบริการเกิดขึ้นกับระหว่างกลุ่มคนที่เราไม่รู้จัก คือคนซื้อบริการและคนขายบริการ ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างคนสองคนที่รู้จักชื่อ รู้จักหน้าตา เป็นสิ่งที่ดูไกลตัว จนคนไทยคิดว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเรา


ในขณะที่เพศสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน เราไม่อยากรับรู้เพราะเราถือว่าเกิดขึ้นในระดับปัจเจก จนเราอาจจจะอึดอัดกับการรับรู้ว่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อน ถ้ามีการพูดถึงเรื่องของเพศสัมพันธ์ในไทยมักมีแค่ในหมู่ของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่เป็นเพราะไม่มีการเข้าใจกันอย่างกว้างขวางนี้แหละ สังคมไทยเลยไม่ได้มีการพูดถึงการมีเพศสัมพันธ์ การป้องกัน อย่างถูกต้อง และ การยินยอม (ให้ consent)

วันนี้อยากตั้งคำถามว่าแล้วอำนาจที่ว่ามันส่งผลต่อการตัดสินใจเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างไรบ้าง?


อำนาจก่อน?


หลายอาทิตย์ที่แล้วเห็นดราม่าคุณพี่หมื่นโป๊ป เราสะดุดกับคำว่า “หลอกไปฟัน” หรือ “ฟันแล้วทิ้ง” ในคอมเม้นตามเพจต่างๆนานา จนมาคิดว่าคำว่าหลอกไปฟันคืออะไรแล้ว อำนาจทางเพศมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร

เราคิดว่าความคิดนี้มาจากความคิดที่ว่า “เซ็กส์” = “รัก” ซึ่งเด็กๆวัยรุ่นก็คงได้ยินพ่อแม่พูดใส่มาบ้างว่าจะเป็นเราควรจะ”เก็บ”ตัวเองให้กับคนที่รัก ทั้งที่ความจริงมันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

เมื่อเดือนก่อนได้มีโอากสอ่านบทสัมภาษณ์ของอาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ กับทาง The Standard ขออนุญาตยกบทที่อาจารย์พูดถึงเซ็กส์และความรักในวันวาเลนไทน์ เพราะอาจารย์พูดได้ดีทีเดียว


“ความคิดที่ว่าความรักกับเซ็กซ์ควรจะมาด้วยกัน เซ็กซ์ที่ดีควรมาพร้อมความรัก เพราะมันเป็นการแสดงออกถึงความรัก เหมือนสองเรื่องนี้มันควรจะมาด้วยกัน เอาเข้าจริงๆ สถานการณ์ชีวิตของคนมันไม่ได้มาด้วยกัน บางทีไม่มาด้วยกันเลย ความคาดหวังทำให้คุณคิดว่ามันจะมาด้วยกัน ทำให้เรื่องมันยุ่ง บางคนก็มีเซ็กซ์อย่างเดียวจนไม่รู้ว่ารู้สึกอย่างไร เวลาที่คนร่วมเพศมันซับซ้อนมาก มันไม่ใช่ครั้งนี้เขารัก ครั้งนี้เซ็กซ์ มันปะปนกัน บางทีมันมาเดี่ยวก็ได้ เวลาที่มันไม่สอดคล้องกับความเชื่อของคุณ คุณจะบอกว่ามันไม่งดงามหรือยังไง คือมันขึ้นอยู่กับ ณ เวลานั้นคุณคิดว่ารักกับเซ็กซ์มาด้วยกันหรือแยกจากกัน เวลานี้คนในสังคมไทยหลายกลุ่มเชื่อว่ามันต้องมาด้วยกัน วันวาเลนไลน์จึงกลายเป็นวันเสียตัวเพื่อพิสูจน์รัก”



ถ้าพิจารณาถึงผลกระทบของความคิดในเชิงนี้ นี้ประกอบเข้ากับบริบททางวัฒนธรรมของสังคมไทยเราจะพบว่า ชุดความคิดว่าเซ็กส์คือรัก ทำร้ายฝ่ายหญิงเพราะในขณะที่สังคมโอเคกับการที่ผู้ชายออกไปสนองความต้องการทางเพศของตนเอง ไม่ว่าพูดถึงเพศสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน หรือจะไปอาบอบนวด แต่กลับกันผู้หญิง เพียงแค่จะแสดงออกถึงความต้องการทางเพศ สังคมยังอึดอัดเลย นี่คือคำถามเดียวกับว่า “ทำไมผู้ชายไปมีอะไรกับใครก็ได้ แต่พอผู้หญิงทำแล้วโดนด่า”

อาจเป็นเพราะสังคมให้ค่ากับพรหมจรรย์ของผู้หญิงมากกว่าพรหมจรรย์ของผู้ชาย? หรือสังคมสร้างกรอบความคิดที่โยงศีลธรรม ความดี ความงาม ของผู้หญิงเข้ากับความบริสุทธิ์ของพวกเธอ? หรือเป็นเพราะบริบททางเพศที่สะสมและตอกย้ำมานานในไทย จนสังคมมองผู้หญิงเป็นที่รองรับความต้องการทางเพศของผู้ชาย? ทั้งหมดล้วนย้ำความเป็นฝ่ายรับทางเพศ (sexually passive character) คือการที่ผู้หญิงต้องให้ผู้ชายเข้ามาก่อน มาเป็นคนริเริ่มเพศสัมพันธ์ ไม่สามารถแสดงความต้องการทางเพศของตนเองได้ (Sexual liberation)


แต่นอกจากนั้นแล้วเรายังผลักผู้ชายเข้าสู่กรอบของบทบาททางเพศจนผู้ชายบางคนเข้าใจว่า “ความเป็นผู้ชาย” คือการการต้องออกไป “ตามล่า” ผู้หญิง ทำให้ผู้ชายที่ไม่ได้จีบผู้หญิง ไม่ได้ตามหาคู่ครอง ไม่ได้แสดงความต้องการทางเพศออกอย่างโจ่งแจ้ง โดนสังคมตั้งคำถาม ซึ่งคำถามส่วนมากคือ “ไม่ใช่ผู้ชายหรอ” เราคิดว่าความคิดนี้เกิดขึ้นจากการทำให้ วามเป็นผู้ชาย = การจีบผู้หญิง/ความเจ้าชู้ และแสดงให้เห็นว่าบทบาททางเพศ (gender role) ส่งผลกระทบต่อทุกเพศในสังคม

เพราะฉะนั้นในความสัมพันธ์แบบนี้ แบบที่เซ็กซ์ =/= รัก แบบที่มันไม่ใช้จุดเริ่มต้นหรือจุดจบของความสัมพันธ์ (ซึ่งเหมือนที่พี่แขกคำ ผกา ในบทสัมภาษณ์ของ Voice TV เกี่ยวกับ การมีเซ็กส์แบบไม่ผูกมัด หรือcasual sex )

แต่เพราะผู้หญิงโดนสอนมาตามที่กล่าวด้านบน พวกเธอจึงไม่กล้ามีส่วนร่วมหรือไม่กล้าบอกสังคมว่าตนมีส่วนร่วมใน casual sex แบบนี้ แน่นอนว่าในสังคม เราเห็นผู้หญิงที่แตกออกจากกรอบสังคมเหล่านี้ เและเราก็เห็นบทบาทของผู้หญิงในการเป็นคนเริ่มความสัมพันธ์เปลี่ยนไปและ เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาไม่ใช้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ปัญหาอยู่ที่ว่าถึงแม้ว่าันเกิดขึ้น ความคิดของสังคมก็ยังไม่เปลี่ยน ผู้หญิงยังโดนติโดนต่อว่าอยู่เนืองๆ


อำนาจ ณ ขณะ?


คิดถึงโต้วาทีเรื่อง ถุงยางในสถานการศึกษา (ซึ่งส่วนตัว เราคิดว่าน่าเป็นในระดับมหาลัยมากกว่า เช่นแจกฟรีในหอพักนักศึกษา แต่เราคิดว่าดีเบททื่เกิดขึ้นไม่ใช้ว่าสถานที่แจกคือที่ไหน แต่คนดูมีปัญหากับการแจกถุงยางฟรีฟรีกับวัยรุ่นมากกว่า) แล้วย้อนคิดไปในคาบสุขศึกษาเราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับคุมกำเนิด ตอนนั้นจำได้ว่าที่เน้นอยู่คือถุงยางกับยาคุมกำเนิด แล้วก็สอนนับวันอยู่บวกเจ็ดลบเจ็ดนับตามปฎิทินกันไปกาคำตอบ และเมื่อสองสามปีก่อนที่ซีรีย์ “ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น” ฉาย แล้วมีตัวละครหนึ่ง (สไปรท์) ถีบผู้ชายที่ตนกำลังจะมีเพศสัมพันธ์ออกเนื่องจากทั้งคู่ไม่มีถุงยางอนามัย ในซีซั่นหนึ่ง แต่นอกจากถุงยางแล้วเราไม่เคยรู้เลยว่าวิธีคุมกำเนิดอื่นหน้าตาเป็นอย่างไร ยาคุมมียี่ห้อไหนบ้าง เพราะฉะนั้นการคุมกำเนิดในหลายครั้งกลายเป็นการตัดสินใจของผู้ชาย ยังมีตัวเลือกคุมกำเนิดอีกเยอะมากที่ตัวผู้หญิงไม่ทราบ ไม่ว่าจะเป็น IUD (ห่วงยางอนามัย) หรือยาคุมกำเนิดแบบฝัง (เช่นพวก Nexaplon)


ดูเป็นอีกทางตันหนึ่งของผู้หญิง วิธีคุมกำเนิดก็มีให้น้อย พอจะซื้อก็โดนสังคมมองว่าเป็นผู้หญิง “ไม่ดี” พอไม่ซื้อแล้วติดโรคหรือท้อง ก็โดนสังคมประณามอีกว่าไม่มีความรับผิดชอบ พอท้องแล้วอยากจะตัดสินใจแท้งก็ไม่มีหนทางให้อีก


อำนาจภายหลัง?


สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังคือสังคมมักนึกถึงว่า “ผู้หญิงเป็นคนเสียหาย” เสมอ หรือถ้าออกมาเล่าเรื่องราวเหมือนดังคนที่นำเรื่องพี่โป๊ปเล่าก็จะโดนสังคมตอกกลับว่า"ผู้หญิงไม่ควรออกมาป่าวประกาศว่ามีความสัมพันธ์กับใคร หรืออยากมีความสัมพันธ์กับใคร เป็นพฤติกรรมที่ “ง่าย” หรือ “แรด”มันลดคุณค่าในตัวเอง” หรือตัวผู้ชายเองก็จะโดนตอกกลับว่า “ผู้ชายเจ้าชู้คือผู้ชายเลว”


เราคิดว่ามันไม่ถูกนะ คนทุกไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตามควรมีสิทธิที่จะมีเซ็กส์กับใครก็ได้ หรือเลือกจะไม่มี หรือมีกับแฟนคนเดียว หรือมีกับหลายคน (ถ้ามันเกิดขึ้นภายใต้ความยินยอมและการป้องกัน) โดยไม่ต้องถูกสังคมประณาม แทนที่จะเสียเวลาพูดถึงว่าควรมีกับกี่คน ควรเล่นตัวมากน้อยแค่ไหน เราว่าควรช่วยการสร้างความเข้าใจว่าเซ็กส์คืออะไร การป้องกันที่ถูกต้อง การยินยอมคืออะไร ไม่ให้ละครที่ใช้การข่มขืน การบังคับมาเป็นตัวอย่าง จนคนเสพสื่อเข้าว่าการกระทำอย่างในละครเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ไม่ให้แรงกดดันของสังคมสอนเด็กว่าและการมีเพศสัมพันธ์ คือการแสดงถึงความรัก และสองสิ่งนี้มาเป็นคู่กันเสมอ

 
 
 

Comments


©2020 by FeministNhoi. Proudly created with Wix.com

bottom of page