คุยเรื่องpride month ในเมืองไทย กับ พี่โกโก้
- Feminist Nhoi
- Jul 13, 2020
- 2 min read
Updated: Aug 14, 2020
เวลาพูดคนไทยถึง LGBTQI+ movement ในไทยเราจะเห็นคนทำความเข้าใจประสบการณ์และการต่อสู้ผ่านมุมมองของโลกตะวันตก การเฉลิมฉลอง ‘pride month’ ในประเทศไทยก็ยังยกเดือนมาจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของ LGBTQI+ ในอเมริกา ทว่าประเทศไทยเรามีบริบทและประวัติศาสตร์ของชุมชนความหลากหลายทางเพศที่มีความเฉพาะและแตกต่างจากโลกตะวันตก พวกเราจึงสนใจว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เราเข้าใจบริบทเรื่องเพศในประเทศไทยได้มากขึ้น
วันนี้เราเลยนำบทสัมภาษณ์พี่โกโก้ นักเรียนทุนรัฐบาลอังกฤษที่กำลังศึกษาปริญญาโทด้าน Gender Studies เกี่ยวกับเรื่องประสบการณ์และการต่อสู้ของกลุ่มคนหลากหลาทางเพศในประเทศไทยค่า

Q: ขอพี่โก้แนะนำตัวสักนิดหนึ่ง
A: สวัสดีค่ะ โกโก้นะคะ เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลอังกฤษหรือทุน Chevening ค่ะ ปัจจุบันศึกษาปริญญาโทอยู่ที่ School of Oriental and African Studies หรือ SOAS สาขา Gender Studies ค่ะ
Q: ทำไมพี่โก้เลือกเรียน Gender Studies ละคะ? แล้วตอนนี้เรียนที่มหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้างคะ?
A: เราเลือกเรียน Gender Studies เพราะอยากเอาความรู้เรื่อง Gender มาสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นในสังคมSOAS ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความฮิปปี้ที่ทำให้ทุกคนได้เป็นตัวของตัวเองแบบสุดๆ นอกจากนี้ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการสอนเรื่องภูมิภาคศึกษา (Area Studies) ค่ะ การจัดหลักสูตรของวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยยังเป็นแบบไม่เอาตะวันตกเป็นศูนย์กลาง
สิ่งที่ประทับใจจากการเรียนที่นี่คือนอกจาก SOAS จะขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความ hippie ที่ทำให้ทุกคนได้เป็นตัวของตัวเองแบบสุดโต่งอย่างมากแล้ว (อันนี้ตอนออกเดทแล้วฝ่ายตรงข้ามมักบอกมาค่ะ 5555) SOAS ยังเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการสอนแบบอาณาบริเวณศึกษา (Area Studies) ค่ะ การจัดทำหลักสูตรในวิชาต่างๆของมหาวิทยาลัยจะเป็นแบบ non-western centric คือหลักสูตรที่ไม่อิงแนวคิดตะวันตก หรือพูดง่ายๆ ว่าสิ่งที่เราเรียนส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในอาณาบริเวณเอเชีย ตะวันออกกลาง และ แอฟริกาค่ะ ทำให้นักเรียนที่มาจากภูมิภาคดังกล่าวสามารถแชร์ประสบการณ์ เรียนรู้ และประยุกต์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงกับภูมิภาคเหล่านั้นหรือตอนกลับไปทำงานที่บ้านเกิดของตนเองค่ะ
สังคมไทยเปิดให้กับความหลากหลายทางเพศจริงหรือ
Q: เวลาเราเข้าใจเรื่องกลุ่ม lgbtq+ ในไทย คนส่วนใหญ่มองว่าสังคมไทยนั้นค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ พี่โกโก้มองว่าอย่างไรคะ
A: เรามองว่า การรับรู้ในสังคมต่อชุมชนความหลากหลายทางเพศเป็นเหมือนกับดักหลุมพรางที่ใหญ่มาก เพราะเพื่อนต่างชาติ หรือ แม้แต่คนไทยที่ไม่ได้สนใจปัญหาเรื่องเพศเป็นพิเศษ มักจะคิดว่าประเทศเราคือศูนย์กลางและแดนสวรรค์ของการเป็น LGBTQ
ความคิดนี้ค่อนข้างอันตราย เพราะบิดเบือนความเป็นจริงและทำให้สังคมเข้าใจว่าพวกเรามีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว ทำให้สังคมมองว่าสิทธิที่เราเรียกร้องอยู่คืออภิสิทธิ์ ทั้งที่ความจริงมันคือสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างการออกมาเรียกร้องให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ หรือ การให้มีการรับรองเพศสภาพของคนข้ามเพศ นั่นเป็นอำนาจอันชอบธรรมนะ เป็นสิทธิในฐานะมนุษย์เหมือนกัน ทำไมเราจดทะเบียนสมรสไม่ได้ กู้เงินร่วมกันกับคู่ไม่ได้ หรือ ทำไมเราไม่ได้รับการรับรองเพศของเรา ในเมื่อเราคือมนุษย์และพลเมืองภายใต้รัฐไทยที่ปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับคนอื่นๆ
ไม่ใช่แค่นั้น เรายังถูกปฏิเสธการเข้าใช้พื้นที่ในบางพื้นที่ อย่าง โรงแรมบางโรงแรม หรือ สถานบันเทิงต่างๆ เรายังถูกกีดกันในการประกอบอาชีพ เพียงเพราะว่าไม่มีใครออกมาตีหรือฆ่าคนข้ามเพศเพราะความเกลียดชัง ไม่ได้หมายความว่าคนข้ามเพศจะมีชีวิตที่ดีในสังคมไทยนะคะ เรายังถูกเลือกปฏิบัติตลอดเวลา
Q: คิดว่าสื่อส่งผลกับการรับรู้ของคนในสังคมที่มีต่อชุมชนความหลากหลายทางเพศหรือเปล่า
A: แน่นอน เนื่องจากสื่อเป็นเสียงที่มีผลต่อทัศนคติและทิศทางของสังคม ทำให้สื่อเป็นทั้งดอกไม้ที่สวยงามและมีดที่คอยทิ่มแทงชาว LGBTQI+ อยู่เสมอมา เช่น การยกย่องประเทศไทยว่ามีการประกวดผู้หญิงข้ามเพศที่สวยที่สุดในโลก ดูเผินๆ เหมือนเป็นการยอมรับใช่ไหม ว่านี่ไง เรามีพื้นที่ให้คุณได้แสดงออกแล้วนะ แต่ภายใต้การยอมรับนั้น มันเป็นการยอมรับภายใต้ ‘เงื่อนไข’ บางอย่างรึเปล่า
เช่นกรณีนี้ ทำให้คนมองว่า “เฮ้ย เป็นคนข้ามเพศได้ แต่ต้องสวยนะ ฉันถึงจะยอมรับคุณ” อย่างโก้เองก็เคยโดนถามว่า “เนี่ย เป็นกะเทย ทำไมไม่สวยเหมือนนางงามในทีวี” โก้เลยสวนไปว่า “แล้วคุณพี่ล่ะ เป็นผู้ชาย ทำไมไม่หล่อเหมือนนักแสดงช่องสาม” เขาก็บอกว่าพี่เป็นผู้ชาย ไม่ต้องมีความคาดหวัง โก้เลยบอกไปว่า งั้นเพราะโก้เป็นกะเทยเหรอคะ พี่เลยต้องสร้างอีกบรรทัดฐานให้ เขาก็เงียบไป
Q: แล้วการยอมรับที่เกิดจากเงื่อนไขแบบนี้มันส่งผลอย่างไรต่อกลุ่มคนที่เป็น LGBTQ+
A: มันกลายเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับคนข้ามเพศ เช่น เป็นกะเทยต้องเก่ง ต้องเป็นคนดี หรือ เป็นกะเทยต้องแต่งหน้าเก่งหรือเต้นเก่ง เพราะสื่อตีกรอบให้เป็นแบบนั้น
หรือเป็นกะเทยจะประสบความสำเร็จได้ต้องอยู่ในวงการบันเทิงนะ แต่กะเทยก็คือคน บางคนก็ธรรมดา บางคนก็ขี้เกียจ บางคนก็เก่ง เราขอเป็นกะเทยธรรมดาๆ บ้าง ตามธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้เหรอ อย่างโก้เองก็แต่งหน้าไม่เก่ง เต้นไม่ได้ แต่ชอบการเมือง อยากช่วยพัฒนา เราอยากเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ก็อาจารย์มหาวิทยาลัยตั้งแต่เด็กๆ แต่คนก็มองว่าไม่ได้หรอก ใครจะยอมให้กะเทยเป็นผู้นำ แค่นี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าสังคมเรายังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกลุ่มคนข้ามเพศและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่มาก
ถึงแม้ว่าหลายคนอาจบอกว่า เราให้โอกาสคุณแล้วไง เราปิดกั้นตรงไหน เรามีทั้งคุณกอล์ฟ (กอล์ฟ ธัญญ์วาริน) ครูธัญ (ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์) ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรามี ด๊อกเตอร์ เสรี (ดร. เสรี วงษ์มณฑา)ในวงการการศึกษาแล้วไง แต่สัดส่วนคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่ในแวดวงเหล่านั้นเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรจริงๆ มันกี่คน เวลาสื่อนำเสนอจึงมักจะเหมารวมความสำเร็จเล็กๆ ว่า ‘เพราะเรามี ส.ส. ข้ามเพศ เราเท่าเทียมแล้ว’ แต่มันมีอะไรที่ทับซ้อนมากกว่านั้น เรายังต้องขับเคลื่อนขบวนการกันต่อไป ทำงานร่วมกับสื่อเพื่อให้เห็นสถานการณ์จริงของกลุ่มคนข้ามเพศโดยควบคู่ไปกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในไทยกำลังต่อสู้กับอะไร?
Q: พอเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากสื่อและสังคมที่ไม่ได้เห็นภาพจริงของสถานการณ์กลุ่มความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยแล้ว เมื่อเป็นเรื่องของบริบททางการต่อสู้ พี่โกโก้มองอย่างไรกับบริบทการต่อสู้ของ LGBTQ ในไทยเมื่อเทียบกับบริบทของตะวันตกคะ
A: สิ่งที่เหมือนกันในการเคลื่อนไหวทั่วโลกคือการเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เช่น การแก้ไขกฎหมายต่างๆ แต่ความแตกต่างของต่างประเทศที่ชัดเจนมากเมื่อเทียบกับเมืองไทยคือการต่อสู้เรื่องปัญหาความรุนแรงทางกายภาพ (Physical Violence) ต่อกลุ่ม LGBTQ+ค่ะ
เพื่อนที่เป็นคนข้ามเพศจากอเมริกาและอาเจนติน่าเล่าให้ฟังว่า ถึงแม้กฎหมายประเทศเขาจะรับรองและให้การคุ้มครองสถานะคนข้ามเพศ เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้านาม แต่ถ้าเดินไปตามถนนแล้วคนรู้ว่าเขาเป็นคนข้ามเพศ เขาอาจโดนพวกที่เกลียดชังคนข้ามเพศลากไปตีหรือฆ่าได่ทุกเมื่อ ซึ่งจะไม่ค่อยเห็นคดีเช่นนี้ในบ้านเรา
พอเป็นประเทศไทยจะมีปัญหาในแง่ของความรุนแรงทางวาจาและจิตใจ กับ กฎหมายที่ไม่ครอบคลุม เราจะเห็นเรื่องการพูดดูถูกเหยียดหยาม การกระทำที่กระทบต่อจิตใจ หรือการเลือกปฏิบัติไม่รับเข้าทำงานก็ยังมีอยู่เป็นประจำ
Q: ถ้าอย่างนี้สถานการณ์ในประเทศเราก็ดีกว่าเขา?
A: ไม่ค่ะ สุดท้ายต่อให้เราไม่โดนลากไปตีหรือฆ่า แต่การมีอยู่ของเราก็ไม่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐ เราไม่เคยถูกปกป้องจากการกลั่นแกล้งในสถาบันการศึกษา ไม่เคยถูกปกป้องจากการถูกปฏิเสธเข้ารับทำงาน ทำให้ชีวิตเรามีทางเลือกไม่มาก ไม่ต่างจากการมีชีวิตที่ต้องแขวนบนความระแวงตลอดเวลาค่ะ เป็นสภาวะที่ไม่ว่ามนุษย์คนไหนก็ไม่พึงอยู่ทั้งนั้น
“Gender Studies” ของไทยอยู่ตรงไหน?
Q: อย่างในทางวิชาการ เรามักจะเห็นการนำแนวคิดทางตะวันตกมาใช้เพื่อเป็นกรอบในการมองเรื่องเพศของไทย แต่ว่าเราจะสามารถมองเรื่องเพศผ่านกรอบแนวคิดมุมมองแบบไทยได้ไหม
A: ในมหาวิทยาลัย SOAS ที่เราเรียนตอนนี้ เน้นเรื่องนี้มาก เพราะสังคมวิชาการทางประเทศโลกที่สามอย่างพวกเราต้องทำเพื่อให้งานเป็นที่ยอมรับคือการอ้างอิงงานวิชาการจากโลกที่หนึ่ง ให้รู้สึกว่า “เฮ้ย งานฉันน่าเชื่อถือ เพราะฉันอ้างงานของทางตะวันตก” คือมันมีมุมมองแบบที่ว่า ถ้าตะวันตกทำแสดงว่ามันดี งั้นเราต้องทำตามตะวันตกถึงจะมีความชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับ หรือหากมองให้ง่ายกว่านั้น ปกติเราจะมองว่าไทยไม่เคยเจออิทธิพลจากยุคจักวรรดินิยม แต่จริงแล้วเราเองก็ตกเป็นเหยื่อของอาณานิคมเช่นเดียวกัน หากถามว่าเราจะลดการใช้ทฤษฎีจากตะวันตกมาเป็นกรอบในการมองเรื่องเพศในไทยอย่างไร คือเราก็ต้องยอมรับว่าแนวคิดเรื่อง ‘เพศ’ จากกรอบของ Gender Studies เป็นแนวคิดที่มาจากการศึกษาแบบโลกตะวันตกจริงๆ แต่เมื่อเราเอาแนวคิดเขามาแล้ว เราก็ต้องเริ่มจากการหยุดวัฒนธรรมการ “ยืม” แบบสุ่มสี่สุ่มห้า หรือวัฒนธรรมการ “ตัดแปะ” แนวคิดซักที
Q: คิดว่าวิธีที่จะเป็นรูปธรรมขึ้นมาหน่อยในการสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษา Gender Studies ควรเป็นอย่างไร
A: เราทำได้สองแบบคือหนึ่งคือ สร้างองค์ความรู้ของตัวเองขึ้นมา คือเรามองโลกวิชาการตะวันตกเป็นแนวทางได้ แต่ต้องพัฒนาความรู้เฉพาะของเราออกมาในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะงานเขียนวิชาการ ภาพยนตร์ สารคดี รูปถ่าย นิทรรศการหรือแพลตฟอร์มที่เป็นพื้นที่แบ่งปันความรู้ของเราเอง โดยเฉพาะการสร้างความรู้ด้านเพศผ่านประสบการณ์ในพื้นที่ของเราเอง เราควรมีแหล่งรวมข้อมูลด้าน เฟมินิสต์/เพศ ในประเทศไทยโดยตรง (feminist/gender archive) เพื่อเป็นที่อ้างอิงงานวิชาการด้านเพศของเรา และสะท้อนความจริงของสถานการณ์ในพื้นที่มากกว่าการที่เราต้องใช้เคสของต่างประเทศที่โครงสร้างเหมือนจะคล้าย แต่ประสบการณ์ชีวิตที่เป็นรายละเอียดนั้นไม่ตรงกับเราเลยเพราะความแตกต่างด้านวัฒนธรรม
ประการที่สอง คือ อาจารย์ต้องสอนให้นักศึกษาเข้าใจการเลือกแหล่งอ้างอิงเวลาเขียนงาน ให้นักเรียนมองว่าเราเลือกแหล่งอ้างอิงนั้นไม่ใช้เพราะแค่มันมาจากซีกโลกตะวันตกเท่านั้น แต่นักเรียนจะต้องเข้าใจว่าการเลือกแหล่งอ้างอิงที่มาใส่ในงานของตนมีที่มาที่ไปและแหล่งจูงใจจากอะไร ถ้าทำได้แบบนี้เราเชื่อว่ามันจะมองเห็นภาพ “เพศ” ที่เป็นความรู้ของไทยมากที่สุด
อะไรคือไทย’s Pride Month ?
Q: พี่โกโก้คิดยังไงเกี่ยวกับการฉลอง Pride Month บ้างคะ?
A: โดยรวมเราถือว่าเป็นเรื่องดีที่มีการพูดถึงและมีการบันทึกการเฉลิมฉลอง Pride อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะมันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงสิทธิเสรีภาพทางเพศที่เท่าเทียมในสังคม อีกนัยหนึ่งการฉลอง pride เป็นเหมือนการส่งสัญญาณให้กับสังคมว่า เนี่ย ความเท่าเทียมทางเพศมันไม่ใช่เรื่องของการมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น แต่มันเป็นเรื่องพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่เท่ากันนะ
Q: เราจะฉลอง pride month ไทยๆกันได้บ้างไหม?
A: ถ้าย้อนกลับมาดูการฉลอง Pride ในประเทศ เราควรจะถามว่าเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหรือกฎหมายของกลุ่มคนหรือชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยจริงๆ หรือเปล่า ไม่ใช่เอะอะมาแค่ใส่แฮชแทกว่า #LoveWins หรือถ่ายรูปลง Instagram เวลาออกงานอีเว้นท์ในช่วง pride month เท่านั้นแล้วก็ปล่อยมันผ่านไป เราต้องมีจิตตระหนักด้วยว่าเราฉลอง pride month เพราะเป็นชัยชนะของ LGBTQI+ Movement ในประเทศเราจริงๆ หรือไม่ หรือเราทำเพียงเพราะโลกฝั่งตะวันตกเค้าทำกันแล้วเราต้องทำตาม ถ้าไม่ทำแล้วเราจะตกเทรนด์
อยากจะบอกว่า ขบวนการเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ในประเทศไทยไม่ใช่แค่ #LoveWins ด้วยซ้ำค่ะ เพราะเรื่องของการสมรสของบุคคล หรือแม้แต่การออกกฎหมายรับรองสถานะทางเพศของคนข้ามเพศ (Legal Gender Recognition) เป็นอะไรที่ใหญ่กว่าความรักมากค่ะ มันคือเรื่องคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนแบบเราในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน โก้อยากจะใช้คำว่า #ChangeWins ไม่ก็ #EqualityWins ที่แปลว่า การเปลี่ยนแปลงและความเท่าเทียมคือ ชัยชนะที่แท้จริงมาแทน
โก้เชื่อว่าการที่เราจะสามารถฉลอง pride month ได้อย่างเต็มปากในประเทศเรา ต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เราช่วยกันผลักดัน นั่นถึงจะเป็นการฉลองที่มีนัยยะสำคัญที่แท้จริงมากกว่าการจัด pride month อิงตามธรรมเนียมซีกโลกตะวันตกค่ะ because it is how we write our own history to celebrate our own victory
Q: ในเมืองไทยมีคนเข้าร่วมการฉลอง Pride เพิ่มขึ้นทุกปี พี่โกโก้ว่ามีปัญหาตามมาบ้างรึเปล่าคะ?
A:หลายๆครั้งโก้มองว่า pride month คือการ pink wash (‘ย้อมแมว’) ซึ่งอธิบายง่ายๆคือการที่องค์กรรัฐและบริษัทเอกชนต่างๆ อาศัยกลไกของระบบทุนและการตลาด ‘ขโมย’ อัตลักษณ์ของ LGBTQI+ มาสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง เช่นการที่การที่ประเทศไทยบอกว่าเราเป็นแหล่งการท่องเที่ยวที่ต้อนรับ LGBTQI+ จากทั่วโลก ทั้งที่ความจริงกลุ่มคนหลายหลายทางเพศในประเทศแทบไม่เคยได้รับสิทธิ์ใดๆ จากรัฐเลย แต่รัฐเอาการมีอยู่ของเรามาเป็นจุดขายเพื่อเอาเงินเข้าประเทศ หรือตัวอย่างง่ายๆอย่างการที่ร้านค้าขายขนมสีรุ้งฉลอง Pride Month ซึ่งเราก็ถามว่า ร้านนั้นทำเพื่อเราจริงๆเหรอ หรือเขาทำเพื่อสร้างแบรนด์ สร้างความประทับใจในหมู่ลูกค้า แล้วก็ได้เพิ่มยอดขายไปในตัว การหาผลประโยชน์ใน pride month เกิดขึ้นจริงๆ เราไม่ได้อคติ เพราะเราเข้าใจว่าโลกนี้มันขับเคลื่อนไปด้วยความเป็นทุนนิยม แต่ทั้งนี้ มันขึ้นอยู่กับว่าเรามีความตระหนักและความรับรู้เท่าทันมันแค่ไหนเท่านั้นเองค่ะ
コメント