สุภาษิตสอนหญิง : หญิงไทย ความรัก และความกลัวในสังคมที่บูชาพรหมจารี
- Feminist Nhoi
- Apr 7, 2019
- 1 min read
“เป็นสาวแซ่แร่รวยสวยสะอาด ก็หมายหมาดเหมือนมณีอันมีค่า แม้แตกร้าวรานร่อยถอยราคา จะพลอยพาหอมหายจากกายนาง"
ตั้งแต่เด็กเราถูกปลูกฝังค่านิยมที่ว่าผู้หญิงที่ดีคือผู้หญิงที่รักนวลสงวนตัว อย่างบทร้อยกรองจากสุภาษิตสอนหญิงข้างต้น เราก็เรียนกันมาตั้งแต่อยู่ประถมศึกษาในวิชาไทย ส่วนในวิชาสุขศึกษา ก็มีเนื้อหาว่าผู้หญิงจะต้องมีประพฤติตัวต่อผู้ชายอย่างไรบ้าง
เราเป็นลูกสาวคนเดียว ตั้งแต่เด็ก พ่อกับแม่และครูที่โรงเรียนต่างก็พร่ำสอนเราว่า “อย่าพึ่งมีแฟนนะ ไว้เรียนจบก่อนค่อยมีแฟน” ตอนเราอยู่มัธยมปลาย พอเราเห็นเพื่อนผู้หญิงเดินจับมือกับแฟน เราก็อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมเขาถึงแก่แดดจัง พ่อแม่เขาไม่เสียใจเหรอ
ตอนอายุ 18 ผู้ชายคนแรกที่เราตกหลุมรักขอเราคบเป็นแฟน ทั้งๆที่เราดีใจมาก แต่จูบแรกของเรากลับตามมาด้วยน้ำตา เรารู้สึกว่าจูบนั้นทำให้เราหมดค่า ว่านับตั้งแต่วินาทีนั้นกลัวขึ้นมาว่าถ้าพ่อแม่รู้เข้าเขาจะผิดหวังในตัวเรา เราเลยต้องคบกันอย่างหลบซ่อน เวลามีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ เราก็ไม่กล้าที่จะหาคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือ เพราะเรากลัวว่าคนที่รับฟังจะมองเราในแง่ลบ
เมื่อเรามองย้อนไป เรารู้สึกว่าช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผู้หญิงอายุ 18 ปี อายุซึ่งนับว่าบรรลุนิติภาวะทางเพศแล้ว ไม่สามารถที่จะแสดงความรักที่ตัวเองมีต่อคนรักได้โดยปราศจากความกลัว นั่นเป็นความกลัวสังคมตัดสิน ความกลัวที่ว่าตนเองจะกลายเป็นมณีที่ไม่มีค่า
หากความรักเป็นสิ่งสวยงามแล้ว การแสดงออกถึงความรักก็ต้องเป็นสิ่งสวยงาม แต่กลับมีผู้หญิงไทยหลายคนที่กังวลว่า พ่อแม่ คนรัก หรือคนรอบตัวจะรับไม่ได้หากพวกเขาไม่ได้เป็นหญิงพรหมจรรย์
พาลให้เราคิดถึงประโยคหนึ่ง TED Talk "We should all be Feminists" ของ Chimamanda Ngozi Adichie ที่ว่า"We praise girls for virginity but we don't praise boys for virginity (and it makes me wonder how exactly this is supposed to work out, since the loss of virginity is a process that usually involves two people of opposite genders)"
สังคมกดดันให้ผู้หญิงรักษา"ความซิง" แต่สังคมไม่ได้กดดันผู้ชายที่"ไม่ซิง"ว่าไม่มีค่า ยิ่งไปกว่านั้น อาจจะพูดได้ว่าสังคมมองผู้ชายที่ต้องการจะรักษา "ซิง" เป็นคนแปลก และยกย่องผู้ชายที่ได้ "เปิดซิง" ผู้หญิง ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นความคาดหวังที่ไม่ยุติธรรมเสียเลย ในเมื่อกระบวนการของการ "เสียซิง" ในความส้มพันธ์ heterosexual (ระหว่างเพศตรงข้าม) ต้องร่วมกันทั้งหญิงชาย เพราะเหตุใดผู้หญิงถึงเป็นฝ่ายที่เสียคุณค่าทางสังคม ในขนาดที่ผู้ชายกลับมีค่าทางสังคมมากขึ้น
อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ค่านิยมที่ปรากฎในสุภาษิตสอนหญิง ที่แต่งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ เกือบสองร้อยปีมาแล้วยังฝังรากลึกในสังคมไทย หล่อเลี้ยงมุมมองที่ว่า “เป็นช้างเท้าหลัง เป็นบุปผชาติ และเป็นเพียงผู้น่าเอ็นดูต่างๆ ตามที่บุรุษสมมติให้” (กุหลาบ สายประดิษฐ์ และคนอื่นๆ 2019)
แต่นี่ก็ผ่านจากยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นมามากแล้ว บทบาทของหญิงไทยไม่ได้จำกัดอยู่กับครัวเรือนอีกต่อไป ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่สังคมไทยจะเลิกตีคุณค่าของผู้หญิงที่พรหมจรรย์
ทั้งนี้ เราไม่ได้หมายความว่า เราต้องการให้หนุ่มสาวออกมาจูบดูดดื่มในที่สาธารณะ หรือว่าสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การแสดงออกทางเพศนั้นต้องคำนึงถึงกาลเทศะ แต่เรามองว่า สำหรับผู้หญิงที่บรรลุนิติภาวะทางเพศแล้ว หากแสดงออกทางความรักอย่างเหมาะแก่กาลเทศะ ก็ไม่ควรที่จะต้องรู้สึกว่าตนมีค่าน้อยไปกว่าผู้หญิงที่เลือกที่จะรักนวลสงวนตัว แต่ในทางเดียวกัน ก็ไม่ดูถูกผู้หญิงที่เลือกที่จะรักนวลสงวนตัวว่าหัวโบราณ พูดกล่าวง่ายๆก็คือ เราแค่ต้องการให้สังคมไทยเคารพการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องเพศของผู้หญิงดังนั้น แทนที่เราจะพร่ำสอนให้ผู้หญิงรักนวลสงวนตัว เราควรสอนว่าหากเหมาะสมแก่เวลาแล้ว ผู้หญิงสามารถที่จะแสดงออกทางเพศได้เช่นเดียวกับผู้ชาย
เราขอปิดบทความนี้ด้วย “สุภาษิตสอนหญิง” ที่เราดัดแปลงให้เข้ากับบริบทของสังคมศตวรรษที่ 21 ให้เข้ากับสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศ
“เป็นสาวแซ่แร่รวยสวยสะอาด ก็หมายหมาดเหมือนมณีอันมีค่า หญิงทุกคนล้วนแล้วแต่มีราคา มินำพาถัาตัดสินที่พรหมจรรย์"

บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนบทความจากโพสต์ “ผู้หญิงในสังคมไทยไม่สามารถมีความรักโดยปราศจากความกลัว” ของเพจหมาถก และ “สุภาษิตสอนหญิง-บุพเพสันนิวาส-นิยายสิบสองบาท” จากมติชน
Comments