top of page

มุมมองของเพจเฟมินิสต์วันละหน่อยต่อนิทรรศการ #donttellmehowtodress



เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ทางแอดมินเพจได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการ “Don’t tell me how to dress นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ” ที่จัดโดยคุณซินดี้ สิรินยา บิชอพ UN Women และ มูลนิธิชายหญิงก้าวไกล ที่แฟชั่นฮอลล์ สยามพารากอน ช่วงวันที่วันที่ 25 มิ.ย. ถึง 1 ก.ค. 


สำหรับคนที่อาจจะไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับแคมเปญนี้ #donttellmehowtodress เริ่มมาจากการที่คุณซินดี้ อัดวิดิโอคลิป หลังจากทางรัฐบาลได้ออกมากล่าวเตือนในช่วงสงกรานต์ว่า ผู้หญิงควรต้องแต่งให้มิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกลวนลามจากฝ่ายชาย โดยคุณซินดี้ออกความเห็นว่า การโทษการแต่งกายของเพศหญิง ไม่ได้แก้ปัญหาการคุกคามทางเพศ แต่เราต้องปลูกฝังจิตสำนึก การเคารพในสิทธิในร่างกายในสังคมไทย 


โดยนิทรรศการ  ได้จัดแสดงเสื้อผ้า ที่เหยื่อสวมใส่ขณะถูกลวนลามทางเพศหรือข่มขืนไว้ พร้อมคำบรรยายเหตุการณ์โดยคร่าว โดยชุดส่วนมาก เป็นชุดที่สังคมไม่มองว่า “โป๊” เช่น เสื้อทีเชิร์ต กางเกงเจเจ ชุดเดรสคลุมยาว ชุดที่ทำให้แอดมินสะเทือนใจเป็นที่สุด คือชุดของเด็กอายุ 2 ปี และชุดคนไข้ 


อีกส่วนของนิทรรศการ เป็นภาพถ่ายเซเลบริตี้ในวงการบันเทิง 15 คน ที่เด่นๆก็มี คุณนก สินตัย คุณใหม่ ดาวิกา คุณโอปอล์ ปาณิสรา คุณปอย ตรีชฏา คุณโตโน่ ภาคิน คุณอนันดา เอฟวริ่งแฮม พร้อมวิดิโอสัมภาษณ์เซเลบริตี้เหล่านี้ โดยเนื้อหาในวิดิโอก็จะไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะแต่งตัวอย่างไร ทุกคนควรได้รับความเคารพ 


ก่อนอื่น แอดมินต้องกล่าวชื่นชมคุณซินดี้ ว่า #donttellmehowtodress และนิทรรศการนี้ ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของเฟมินิสม์ในประเทศไทย เพราะมันทำให้สังคมไทยฉุกคิดถึงมายาคติเกี่ยวกับการลวนลามทางเพศและการข่มขืน ที่นำไปสู่การโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ได้ และด้วยความที่คุณซินดี้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง ก็ทำให้มีพื้นที่สื่อมาก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนด้านความเท่าเทียมทางเพศที่ใหญ่กว่านี้ได้ในอนาคต 


แต่ทว่า แอดมินเองก็มีจุดที่รู้สึกว่า นิทรรศการ #donttellmehowtodress ยังสามารถปรับปรุงได้

ด้วยความที่ #donttellmehowtodress เป็นแคมเปญที่เริ่มโดยบุคคลในวงการบันเทิง รูปถ่ายในนิทรรศการจึงเป็นรูปของคนบันเทิง ซึ่งด้วยหน้าตา บุคลิก และชื่อเสียงที่ดีแล้ว ก็ค่อนข้างจะได้รับการยอมรับจากสังคมไม่ว่าตนเองจะแต่งตัวอย่างไร  แต่สำหรับคนธรรมดาๆเช่นตัวแอดมินแล้ว การยอมรับไม่ได้เกิดขึ้นง่ายดายแบบนั้น


เช่น มีครั้งหนึ่งที่แอดมินใส่กางเกงขาสั้น แล้วคุณแม่ของแอดมินทักว่าไม่เหมาะสม ทั้งๆที่เวลาคุณแม่เห็นเหล่าดารา นางแบบใส่กางเกงขาสั้นแบบเดียวกันแล้วกล่าวชมว่าสวย 


เป็นเพราะเราอยู่ในสังคมที่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า หน้าตา รูปลักษณ์ภายนอกและฐานะทางสังคม มีความสัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัด นี้ไม่ใช่ว่าการคุกคามทางเพศไม่ใช่ปัญหาในวงการแฟชั่นหรือวงการบันเทิง ซึ่งแอดมินคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่ว่าการคุกคามทางเพศนั้นส่งผลต่อคนไทยมากมายที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมเฉกเช่นคนอื่น


ต่อให้เราจะไม่ได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง หากว่าแต่งตัวถูกกาลเทศะแล้ว จะเป็นใคร อายุเท่าใด เพศใดก็ตาม ก็ควรจะได้ใส่ชุดที่ตัวเองชอบอย่างมั่นใจได้โดยไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ 


อีกประเด็นหนึ่ง คือชุดที่จัดแสดง ล้วนแล้วแต่เป็นชุดที่ “ไม่โป๊” ในมุมมองของคนทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต่อให้ชุดที่จัดแสดงเป็นชุดที่จัดว่า “โป๊” อย่างกางเกงขาสั้น หรือสายเดี่ยว  ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นความผิดของเหยื่อแต่อย่างใดอยู่ดี แต่มีส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ที่เขาจัดให้ผู้เข้าชม แปะสติ๊กเกอร์แสดงความเห็นว่า คิดว่าชุดมีส่วนทำให้ถูกข่มขืนหรือไม่ (ตามรูปประกอบบทความ) ซึ่งแอดมินแปลกใจว่ามีคนเห็นว่า “มีส่วน” มากกว่าที่แอดมินคาดไว้ จริงอยู่ที่ว่า ชุดอาจจะไป “กระตุ้น” ความรู้สึกของอาชญากรทางเพศ แต่ว่าสิ่งที่เป็น “เหตุ” ของการลวนลามหรือข่มขืน คือ “การขาดความควบคุม” ของเหล่าอาชญาการทางเพศ ไม่ใช่ “ชุด” แต่อย่างใด


แต่ก้าวออกมามองเหตุการณ์เหล่านี้ อีกตัวละครสำคัญในการโทษเหยื่อ (Victim Blaming) คือสังคมรอบข้าง ถ้าจะยกตัวอย่างให้ชัดที่สุดก็บรรดาเจ้าหน้าที่รับคำร้องที่ถามถึงชุดที่ใส่ หรือ ชาวเฟสบุ๊คที่คอยติเตียนรื่องชุดของเหยื่อ หรือ ผู้รับข่าวสารปกติอย่างพวกเรา เพราะฉะนั้นคำถามนี้ เป็นอีกจุดเริ่มต้นที่ดีให้เราได้คิด ในฐานะสังคมรอบข้าง ว่าเราปฎิบัติต่อเหยื่อสังคมเหล่านี้อย่างไร และการกระทำของเราแต่ละอย่างโทษเหยื่อหรือไม่


ประเด็นสุดท้ายคือ วาทกรรม “เพศแม่” และ “ให้เกียรติผู้หญิง” ซึ่งแอดมินได้ยินจากตัวบทสัมภาษณ์ของคุณโตโน่ จริงอยู่ว่า การได้รับการสนับสนุนจากผู้ชายในโครงการแบบนี้ นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง แต่ว่าการสอนให้ผู้ชาย “เคารพ” ผู้หญิงเพราะเขาเป็นเพศแม่ ไม่ได้เป็นปรับทัศนคติที่นำไปสู่การลวนลามทางเพศอย่างตรงจุด เพราะวาทกรรม “เพศแม่” มันแฝงซึ่งมายาคติที่ว่า ผู้หญิงที่ควรค่าแก่การเคารพ ต้องปฏิบัติตนเหมือน “แม่” ที่ดี ที่มีอิมเมจเป็นผู้คุ้มชูเลี้ยงดู แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงอายุเท่าใด ประพฤติตัวแบบใด จะแมน จะห้าว จะสาว จะหวาน จะชอบผู้ชาย ชอบผู้หญิง ทั้งสอง หรือไม่ทั้งคู่ จะเป็นหญิงโดยกำเนิด หรือไม่ก็ตาม  ก็สมควรแก่การเคารพทั้งสิ้น 


ยิ่งไปกว่านี้ ถึงแม้ว่าผู้ชายจะไม่เป็นเหยื่อของวาทกรรมเรื่องการแต่งตัวเหมือนผู้หญิง แต่ผู้ชายที่เป็นเหยื่อการลวนลามหรือข่มขืนก็มีอยู่ แต่กระแสสังคมที่ทำให้เหยื่อชายถูกเหยียบย่ำความศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จนไม่กล้าที่จะออกมาแจ้งร้องทุกข์ ด้วยความที่ว่า บทบาททางเพศของชายในสังคมไทย มองว่าผู้ชายจะต้องมีความ “ต้องการทางเพศ” อยู่ตลอดเวลา มายาคติเลยกลายเป็นว่า ผู้ชาย ไม่สามารถถูกข่มขืนได้ ซึ่งไม่จริง การแตะต้องตัว หรือการร่วมเพศที่ได้ยิมยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับเพศใด ก็ถือว่าเป็นการลวนลามและการข่มขืนเช่นกัน 


ทั้งนี้ แอดมินว่าในการสร้างความตระหนักรู้เบื้องต้น โดยเฉพาะในระดับบุคคลทั่วไป ตั้งในห้างแบบนี้แล้ว Don’t tell me how to dress นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ” ถือว่าเป็นนิทรรศการที่ดีมากเลยทีเดียว


แอดมินเลยขออนุญาติลงรูปถ่ายต่างๆจากนิทรรศการ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ได้ไปชมได้เห็นชุดและภาพถ่ายที่จัดแสดงค่ะ




 
 
 

Comments


©2020 by FeministNhoi. Proudly created with Wix.com

bottom of page