ผู้หญิง และ การเมืองไทย
- Feminist Nhoi
- Jun 1, 2019
- 1 min read
ในช่วงต้นปี 2562 องค์กรสหภาพรัฐสภา (IPU) ได้มีการคำนวณสัดส่วนของสมาชิกสตรีในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดยในห้าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสัดส่วนของผู้หญิงที่เข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนเพียงแค่ 5.8% เท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวถือได้ว่าเป็นอัตราส่วนที่ต่ำที่สุดในหมู่ประเทศแถบอุษาคเนย์ นี้แปลว่า 94% ของสมาชิกเพศชายในช่วงยุค คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายหลังการเลือกตั้งในต้นปี 62 การคำนวณคร่าวๆแสดงให้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกผู้หญิง (ตามที่รัฐบาลแบ่งแยก) ประมาณ 15% และมีสมาชิกเพศชายคิดเป็น 85% ทั้งความเป็นจริงในอดีตและในช่วงยุคหลังการเลือกตั้งในต้นปี 62 สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทอันน้อยนิดของเพศหญิงที่จะเข้าไปร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารประเทศนี้
สิ่งต่างๆเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยของเราทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าทำไมตัวเลขเหล่านี้ถึงสำคัญ? ทำไมเราต้องสนใจด้วยว่าในสภามีผู้หญิงกี่คน? เพราะถ้าหากเราสามารถทำให้สภามีจำนวนผู้หญิงต่อผู้ชายในอัตราส่วนที่มากขึ้น ก็อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายเพื่อยกระดับความเท่าเทียมทางเพศในสังคม
ทำไมเราถึงต้องการความหลากหลายทางเพศในสภา?
เราสามารถการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศได้ในสองแง่มุม ในแง่มุมที่หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดขึ้นผ่านการเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมที่ไม่ใช่แค่เป็นการเรียกร้องครั้งคราว หากแต่ต้องเป็นการกระทำที่ต่อเนื่อง เพื่อชี้ให้เห็นถึงสิทธิที่ถูกละเลย เหลื่อมล้ำ และ ลักลั่นของผู้หญิงและ LGBTQ ในสังคมไทย แต่ทว่าเพียงแค่ลมปากไม่สามารถก่อให้เกิดพายุแห่งความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ดังนั้นการยอมรับและปรับเปลี่ยนทัศนคตินี้ จึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงความเชื่อเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศนี้จึงต้องเกิดขึ้นผ่านกฎหมาย เพื่อบังคับใช้ และต้านทานปัญหาโครงสร้างที่ฝังรากลึกมาเป็นระยะเวลายาวนานในสังคมไทย เช่นการปกป้องเหยื่อจากการคุกคามทางเพศ หรือ “พรบ.คู่ชีวิต” ดังนั้นรัฐจึงเป็นตัวละครสำคัญในการปรับเปลี่ยนจากด้านบนเพื่อตอบสนองความต้องการของชนชั้นรากหญ้า
นอกจากนี้แล้วความหลากหลายทางเพศในรัฐสภาที่สะท้อนความเป็นจริงของสังคม จะเป็นเครื่องเตือนใจให้แก่เหล่าผู้มีอำนาจ ว่าประชาชนที่แท้จริงแล้ว “หน้าตาเป็นอย่างไร” ใครได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ถูกถกเถียงในสภา เสียงใครจะถูก(หรือไม่ถูก)เปล่งออกมาก นี้คือผลที่แท้จริงของอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น การมีสภาที่สะท้อนภาพรวมประชากรอย่างที่ถูกต้อง จะทำให้รัฐสภาไม่ได้เป็นพื้นที่ต้องห้ามของผู้หญิงและ LGBTQ อีกต่อไป หากแต่เป็นกลไกหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนแตะต้องได้และมีส่วนร่วมได้
แล้วทำไมการเมืองไทยไม่มีความหลากหลายทางเพศเลย? มีแต่ผู้ชายที่อยากเล่นการเมืองหรอ เราว่าไม่น่าใช่ ตลอดระยะเวลากว่า 80 ปีที่ผ่านมาของการเมืองไทย แทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถาบันการเมืองและสถาบันทหารมีความข้องเกี่ยวกันอย่างแนบแน่น และไม่สามารถแยกออกจากกันได้ไม่ว่าจะเป็นในยุคสมัยใดก็ตาม เราเห็นนักการเมืองไทยโอนย้ายความชอบธรรมและอำนาจทางการทหารมาใช้แทนความสามารถบริหารบ้านเมืองอยู่เสมอ ความสามารถของการบริหารของนักการเมืองจึงมักจะเป็นปัจจัยที่ถูกมองข้าม
ดังนั้นภายใต้ความเป็นจริงที่ว่าบทบาทในกองทัพและตำรวจของผู้หญิงมีอย่างจำกัด เริ่มตั้งแต่การสมัครเข้าเรียนโรงเรียนการทหาร ตำรวจ ที่ส่งผลต่อเนื่องถึงการเลื่อนยศขั้นตำแหน่งตลอดอายุราชการ ทำให้ที่ผ่านมาเราแทบไม่เห็นผู้หญิงในบทบาทของผู้ปกครองและกองทัพ ซึ่งก็หมายถึงการมีบทบาททางการเมืองไทยอันน้อยนิดตามหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคร่วมสมัย
เมื่อเทียบกับบทบาทของผู้หญิงในภาคธุรกิจแล้ว เราเห็นผู้หญิงมีอำนาจการตัดสินใจสูง ประเทศไทยมีสัดส่วน CEO ผู้หญิงเป็นลำดับต้นๆของโลก แล้วทำไมผู้หญิงถึงสามารถก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วในภาคเอกชน แต่ไม่ได้รับโอกาสนั้นในภาครัฐเลย? ถ้าจะให้ตอบแบบรวดรัด เราเชื่อว่าในภาคเอกกชนผู้บริหารส่วนมากมีเครื่อข่ายสนับสนุน (support network) ที่โยงกันผ่านครอบครัว ลูกสาวคนโตได้รับหน้าที่บริหารงานและความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ได้รับโอกาสให้ทำงานให้ได้ “พิสูจน์” ตัวเอง
ระบบอุปถัมถ์ในระบอบการเมืองไทย สร้างค่านิยมให้นักการเมืองกระจุกอำนาจอยู่ภายในพรรคการเมืองและพวกพ้องของตน ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นอำนาจที่เกิดจากนักการเมืองผู้ชาย ที่สานต่ออำนาจนี้ให้แก่ผู้ชายในรุ่นต่อๆมา ในศูนย์กลางของการเมืองนี้ผู้หญิงมี “หน้าที่” ให้เป็นผู้สนับสนุนเช่นในฐานะ “ภริยา” ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงเป็นการยากสำหรับนักการเมืองหญิงหน้าใหม่ที่จะได้รับโอกาสและแรงสนับสนุนให้มาเป็นสมาชิกแนวหน้าของพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
นอกจากนี้แล้ว บริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทยยังส่งผลให้ผู้หญิงไทยยังต้องใช้ชีวิตในสังคมที่บอกเธอว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ควรทำ ความเป็นผู้นำคือลักษณะของผู้ชาย ผู้หญิงถูกพร่ำสอนว่าเธอไม่สามารถตัดสินใจ และไม่ควรแสดงออกถึงความมั่นใจในวงแวดล้อมผู้ชาย ค่านิยมดังกล่าวได้สร้างรอยแผลที่มองไม่เห็นไว้ในกระบวนความคิดของผู้หญิง เมื่อผู้หญิงส่วนมากโดนเลี้ยงมาให้ยอมรับรอยแผลดังกล่าว นักการเมืองหญิงจำจึงเป็นต้องต่อสู้และผลักดันตัวเองเพื่อเป็นเพียงผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเป็นสมาชิกสภาที่ได้รับความเคารพเทียบเทียมเฉกเช่นสมาชิกสภาท่านอื่น
เวลาที่ผ่านมาเราเห็นผู้หญิงและกลุ่ม LGBTQ อยู่ในการเมืองแบบเนืองๆ คือเห็นหนึ่งคนหรือสองคน เราดีใจที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาและในสภาปัจจุบัน พวกเราเป็นพยานที่เห็นการเปลี่ยนแปลงในความหลากหลายทางเพศในการเมือง ได้รับรู้ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศผ่านบทสนทนาและวาทกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมเราได้แต่หวังว่านอกจากสถิติที่จะเปลี่ยนแปลงไป รัฐสภาก็จะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจัง ผ่านการปฎิบัติต่อเพศอื่นอย่างมีเกียรติและผ่านการคำนึงถึงประชากรในอีกหลายภาคส่วนที่ในอดีตเสียงของพวกเขาไม่ได้มีแม้กระทั่งโอกาสได้เข้าไปในรัฐสภา
Comments