top of page

“ความเป็นแม่” มายาคติของความเป็นหญิงกับหน้าที่การงาน

สุขสันต์วันแม่แห่งชาตินะคะผู้อ่านทุกท่าน


ไม่รู้ว่าเป็นเดือนสิงหาคมมีทั้งวันสตรีไทยและวันแม่หรือเปล่า ถึงมีประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงโผล่ขึ้นมาเห็นมากมายในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่การงาน อย่างที่มีข่าวใน BBC ว่า มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์โตเกียวมีการปรับผลคะแนนสอบของนักศึกษาหญิงให้ผ่านเพียงแค่ 30% (https://bbc.in/2OW7WRH) หรือ กรณีของประเทศไทยเอง ที่มีข่าวว่ารับพนักงานสอบสวนเฉพาะเพศชายเท่านั้น (http://bit.ly/2MkE0jy)

ทั้งสองกรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในการทำงาน โดยข้ออ้าง “ไม่รับเพศหญิง” ของทั้งสองกรณีมีนัยยะที่ซ่อน “มายาคติ” เกี่ยวกับความ “เป็นหญิง” บางอย่างในทั้งสังคมไทยและญี่ปุ่นอยู่


มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์โตเกียวอ้างว่า เหตุผลที่ต้องปรับคะแนนสอบของนักศึกษาญี่ปุ่นนั้นยกคำอ้างมาว่า “Many female students who graduate end up leaving the actual medical practice to give birth and raise children,” กล่าวคือเป็นคำอ้างที่ว่าเพราะนักศึกษาหญิงที่จบไปแล้วนั้นสุดท้ายก็ออกจากงานไปเลี้ยงลูกอยู่ดี


ส่วนในกรณีของไทย รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างเหตุผลว่า พนักงานสอบสวนหญิงนั้นมีภาระหน้าที่ทางครอบครัวและความรับผิดชอบอื่นๆ มากกว่าผู้ชาย ทำให้มีการลาออกเป็นจำนวนมาก จึงเปิดรับเฉพาะเพศชาย โดยอ้างว่าเมื่อพนักงานสอบสวนไม่ขาดแคลนจะรับเพศหญิงในจำนวนมากขึ้น

สองกรณีนี้แสดงให้เห็นสภาวะที่ “ผู้หญิง” ต้องเผชิญกับ “ภาระภายในบ้าน” ที่เกิดจาก “ความเป็นแม่” หรือ “ภาระของการมีมดลูก” ซึ่งทำให้ผู้หญิงต้องรับหน้าที่สำคัญอย่างการให้กำเนิดและ“รับผิดชอบ” ต่อการกำเนิดเพื่อสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์ ทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่ในครรภ์นั้นกลายเป็นเครื่องพันธนาการของผู้หญิง ทั้งทางจิตใจและทางหน้าที่


เป็นเรื่องจริงที่ว่า แพทย์หญิงในญี่ปุ่นและพนักงานสอบสวนหญิงไทยหลายคนต้องลาออกเพราะเพื่อไปดูแลครอบครัว แต่สาเหตุของการลาออกของพวกเธอคือ “ภาระของการมีมดลูก” ที่พร่ำสอนกันมารุ่นต่อรุ่นว่า หน้าที่ของผู้หญิงคือการเลี้ยงลูก และผู้หญิงที่ดีต้องเป็นแม่ที่ดี

พอผู้หญิงอายุได้ประมาณหนึ่ง สังคมและครอบครัวจะเริ่มตั้งคำถามและกดดันว่า มีแฟนหรือยัง แต่งงานหรือยัง มีลูกไหม ถ้าผู้หญิงคนนั้นไม่มีแฟน ไม่แต่งงาน หรือไม่มีลูก ก็จะกลายเป็นผู้หญิงที่ “ล้มเหลว” ใน “ภาระของการมีมดลูก” ไปทันที


ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผู้หญิงหลายคนไม่ได้ต้องการพันธนาการของความเป็นแม่ จึงเลือกที่ทำแท้งหรือคลอดออกมาแล้วนำเด็กไปทิ้ง สังคมก็มักจะรุมประณามหญิงเหล่านี้ เนื่องจาก “มายาคติของความเป็นแม่” ในสังคมที่มองว่า แม่ทุกคนต้องรักลูก แม่ต้องมีหน้าที่เลี้ยงลูก ฯลฯ แต่ทว่า “แม่” เหล่านั้นถือเป็น “แม่” จริงๆ หรือไหม หรือเป็นเพียง “ผู้หญิง” ที่โดนสังคมบังคับและผลักให้รับภาระที่เรียกว่า “ความเป็นแม่ “ เพียงเพราะสิ่งที่เกิดจากการปฏิสนธิ


ในขณะเดียวกัน อีกครึ่งหนึ่งของการปฏิสนธิมักไม่ถูกสังคมกดดัน “ภาระความเป็นพ่อ” ให้เลย “พ่อ” ไม่ต้องลาออกจากงานมาดูแลครอบครัวเหมือนกับ “แม่” อาจเพราะในขณะที่ “ความเป็นแม่” ผูกติดกับ “ภาระภายในบ้าน” “ความเป็นพ่อ” ก็ถูกผูกติดกับ “ภาระภายนอกบ้าน” คือการเป็นผู้นำข้างนอกบ้าน อย่างเช่น เรื่อง เงิน การทำงาน การออกหน้าตามสังคม


การที่ “ความเป็นหญิง” ผูกติดกับ “ข้างใน” และ “ความเป็นชาย” ผูกติดกับภายนอก อาจเป็นมายาคติที่เกิดจากการที่โยนีเข้าไปข้างใน และลึงค์เป็นสิ่งที่อยู่ข้างนอก หรืออาจมองที่รูปแบบของการสำเร็จความใคร่ว่า ผู้หญิงต้องใส่เข้าไป และผู้ชายต้องนำออกมา ก็ได้ ทำให้ “ผู้ชาย” มีลักษณะของ “ภายนอก” ส่วน “ผู้หญิง” มีลักษณะของ “ภายใน” (ซึ่งการมองอย่างนี้เป็นมายาคติที่ละเลยผู้มีเพศกำกวมอย่างอินเตอร์เซ็กส์อีกที)


แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนไป ผู้หญิงเริ่มหันมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงรับบทบาท “ภายนอก” ไม่ต่างอะไรกับผู้ชายแล้ว แต่ทว่าการที่ผู้หญิงมีภาระ “ภายใน”ยังสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนอยู่ กล่าวคือผู้หญิงหลังจากรับภาระนอกบ้านแล้ว กลับบ้านก็ต้องมาเจอภาระในบ้านอีก (come home from work to more work) ซึ่งสร้างภาระที่มากเกินไป ในขณะที่ผู้ชายยังรับบทบาทภายนอกเพียงอย่างเดียวอยู่เหมือนเดิม


นี่คือสิ่งที่สร้างสภาวะความเครียดสูงให้กับทั้งแพทย์หญิงญี่ปุ่นและบรรดาเจ้าหน้าที่สอบสวนหญิงไทย แต่การกดคะแนนสอบเข้าหรือการไม่รับพนักงานหญิงนั้นเป็นการแก้ปัญหาผิดจุด ซึ่งแสดงให้เห็นภาพความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ควรแก้คือ ทัศนคติเกี่ยวกับเพศที่บิดเบี้ยวในครอบครัวมากกว่า

ในกรณีญี่ปุ่น ทัศนคติที่ควรแก้ไขคือการที่ทัศนคติที่ว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นที่ดีต้องลาออกไปเลี้ยงลูก คือควรเป็นแม่บ้านหรือรับภาระภายในบ้านไปอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในโลกทุนนิยมที่ต้องใช้ทุนเพื่อประทังชีวิตแล้ว การเป็นแม่บ้านอย่างเดียวทำให้ไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ จำเป็นต้องพึ่ง “สามี” ในฐานะแหล่งเงินทุน ซึ่งในกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยาเป็น toxic relationship หรือมีการทำร้ายร่างกายในครอบครัว เป็น domestic violence ความผูกพันธ์ทางการเงินทำให้ภรรยาหนีออกจากความสัมพันธไม่ได้


ดังนั้นในวันนี้ที่เราฉลองวันแม่แห่งชาติ ขอเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมกันคิดว่า “ความเป็นแม่” ที่สังคมไทยกำลังให้ค่านั้นผูกติดกับ “ภาระภายในของการมีมดลูก” หรือไม่ แล้วมี “ความเป็นแม่” รูปแบบอื่นๆที่ควรค่าแก่การยกย่องหรือไม่




Written by Waron Edited by Abhiphany

 
 
 

Comments


©2020 by FeministNhoi. Proudly created with Wix.com

bottom of page