top of page

ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นได้ไหมภายใต้รัฐบาลทหาร?

ตลอดระยะเวลาหลายปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร มีการแสดงความไม่พอใจทางการเมืองอยู่เป็นระยะ โดยครั้งที่ดูจะเป็นปรากฎการณ์ที่สุดคือการลุกฮือขึ้นมาของนิสิตนักศึกษาเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” เพราะนี่แสดงให้เห็นถึงพลวัตทางสังคมของกลุ่มคนชนชั้นกลางที่เปลี่ยนไป เมื่อย้อนไปมองถึงการต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศเรากลับยังเห็นไม่ชัดนัก เพราะหลายคนอาจมองไม่เห็นว่าเราควรเรียกร้องอะไร หรือการต่อสู้ควรไปในทิศทางไหนดี? ขบวนการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศต้องมีจุดยืนต่อต้านรัฐบาลทหารไหม? คำถามทุกอย่างเราอาจต้องกลับมาตอบคำถามที่ว่า ความเท่าเทียมทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้ไหมภายใต้รัฐบาลทหาร?

แม้ว่าเราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศภายใต้ระบอบทหาร อย่าง การออกพรบ. ความเท่าเทียมทางเพศ 2558 พรบ.คู่ชีวิต และล่าสุดที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีการลงมติว่ากฎหมายอาญา ม.301 ว่าด้วยการทำแท้งนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญข้อที่ว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศ หรือแม้กระทั่งนโยบาย "พลังหญิง" ของนักการเมืองที่ยอมรับอำนาจของทหาร (ที่เคลมว่าเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ) ทว่าผลงานทั้งหมดที่เราจะยกให้เป็นเครดิตของรัฐบาลทหารได้จริงๆ หรือ? เพียงเพราะมันออกมาภายใต้ช่วงเวลาดังกล่าว? ในเมื่อกฏหมายเหล่านี้ได้มีการเรียกร้องและผลักดันกันมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้ว อย่างไรก็ตามเราอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อมีกฎหมายดังกล่าวก็ช่วยให้ความลำบากบางประการที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเพศลดลง แต่ในขณะเดียวกัน "ตราบใดที่เราอยู่ใต้โครงสร้างทางสังคมและการเมืองของรัฐบาลทหารนั้น เราไม่สามารถมีความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริงได้" เพราะอะไร? เหตุผลข้อที่ 1 ที่ความเท่าเทียมทางเพศจะไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลทหารได้ นั่นเพราะว่า การปกครองแบบ ‘ทหาร’ คือการปกครองแบบผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าปกครองผู้ที่มีอำนาจต่ำกว่า มีลำดับขั้นอำนาจอย่างชัดเจน นั่นหมายความว่าในระบบทหารเองนั้นก็ปลูกฝังแนวคิดว่า“ความเท่าเทียมไม่มีอยู่จริง” เหตุผลข้อที่ 2 เราต้องไม่ลืมว่าทหารส่วนใหญ่เป็น “ผู้ชาย” และทหารที่มีตำแหน่งสูงส่วนมากเป็นทหารที่จบจากโรงเรียนทหารอย่างเตรียมทหารซึ่งเป็นโรงเรียนชายล้วน และหากมองผ่านคอนเซปต์เรื่องความเป็นชาย ทหารคือสิ่งที่เป็นชายเสียยิ่งกว่าชาย จนเราอาจเคยได้ยินคำว่า ‘ชายชาติทหาร’ นั่นทำให้เมื่อรัฐบาลทหารปกครองประเทศ พวกเขาต่างนำกฎระเบียบ บรรทัดฐานในสังคมที่เต็มไปด้วยความเป็นชายมาใช้ในประเทศ ด้วยเหตุผลดังนี้ การจะต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เราต้องต่อต้านโครงสร้างที่ไม่ชอบธรรมเหล่านี้ เราต้องเรียกร้องสิทธิของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่ว่าจะเพศไหนๆ ก็ตาม เราไม่สามารถเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศโดยปราศจากความเท่าเทียมทางการเมือง ปราศจากความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่านั่นหมายความว่า การเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางเพศจำเป็นต้องรื้อสร้างระบอบการปกครองที่สนับสนุนให้โครงสร้างที่ปราศจากความชอบธรรมยังดำเนินต่อไปได้

 
 
 

Comments


©2020 by FeministNhoi. Proudly created with Wix.com

bottom of page