#สงกรานต์หน้าไม่เอาแบบนี้ ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในวันสงกรานต์
- Feminist Nhoi
- Apr 17, 2019
- 1 min read

การล่วงละเมิดทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นถือได้ว่าเป็นปัญหามานานแล้ว แม้ว่าจะมีความพยายามและมาตรการในการป้องกันปัญหาต่างๆ อย่างเมื่อปีที่แล้วมีแคมเปญแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่โทษการแต่งกายอย่าง #DontTellMeHowToDress แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ยังมีข่าวเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศให้ได้ยินตลอดอยู่ดี
เมื่อสองวันก่อนทางเพจได้รีทวิตวิดีโอคลิปที่ผู้สื่อข่าวหญิงจากช่องไทยรัฐทีวีถูกนักท่องเที่ยวชายลวนลาม (https://youtu.be/F2fhMWvRsbY) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกรณีการล่วงละเมิดทางเพศช่วงสงกรานต์ที่ “ชัดเจน” แต่ก็ยังมีการล่วงละเมิดที่ “มองไม่เห็น” มากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่เล่นน้ำที่คนพลุกพล่าน
การล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหามาก จนเรียกได้ว่าถ้าพูดคุยกับคนที่ไปเล่นน้ำสงกรานต์ จะต้องมีอย่างน้อยสักคนที่ถูกล่วงละเมิดกับตัว อย่างเมื่อวานเพื่อนสนิทเราเล่าว่า “เมื่อวานไปเล่นน้ำ มีคนเอาแป้งปะนมพี่แล้วบอกว่ามือมันพลาด สองสามรอบ”
การล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้จำกัดเพียงแค่การถูกเนื้อต้องตัว อย่างการหอมแก้ม การจับหน้าอก หรือการฉุดกระชากเท่านั้น แต่รวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาหรือการแต่งกาย อย่างการพูดแซวในเชิงลามก และการจ้องมองของสงวนด้วย
เทศกาลสงกรานต์เลยเป็นพื้นที่ให้การล่วงละเมิดทางเพศได้ออกมาอาละวาดอย่าง “ชัดเจน” สุดๆ
การล่วงละเมิดทางเพศนั้นไม่ได้เลือกเพศและวัย หลายๆ คนไม่เกี่ยงว่าเพศชาย หญิง หรือกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ต่างก็มีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักในช่วงสงกรานต์ จากที่เคยสำรวจในหมู่เพื่อนๆ ผู้ชาย พบว่าเพื่อนเกินครึ่งตอบว่าเคยโดนล่วงละเมิดทางเพศในช่วงสงกรานต์
เพื่อนเราอีกคนหนึ่งเล่าว่า “ตอนสมัยเป็นเด็กมัธยมเคยไปเล่นน้ำกับแฟนที่สีลม หันมาอีกที แฟนโดนเกย์อุ้มเอาเข้าซอยไปแล้ว ต้องวิ่งไปตามกลับมา”
หรืออีกคนที่เป็นชายรักชาย “ตอนสงกรานต์เคยโดนชะนีจับนมจับตูด”
ยังมีเรื่องราวการล่วงละเมิดทางเพศในวันสงกรานต์อีกมากมาย ไม่ว่าเราจะเคยได้ยินหรือเห็นเพื่อนโดน มันกลายเป็นเรื่องปกติจนพวกเราชินชาและไม่แปลกใจกับมัน ทั้งๆ ที่เรื่องราวพวกนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะ “เคยชิน” เลยด้วยซ้ำ
เราคุ้นเคยแม้กระทั่งคำพูดอย่าง “ถ้าไม่อยากโดนลวนลามก็ไม่ต้องไปเล่นสงกรานต์” “อย่าหวงตัวเลย” “ก็อยากแต่งตัวแบบนี้เอง” ทั้งๆ ที่คำพูดพวกนี้เป็นการโยนความผิดหรือโทษผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศว่าเดินเข้าไปหาเรื่องเอง และในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะแต่งกายมิดชิดเพียงใด หากคนจะละเมิดก็ละเมิดได้ทั้งนั้น
การล่วงละเมิดกลายเป็นสิ่งที่เราต้อง “ทน” และ “จำยอม” เวลาไปร่วมเล่นน้ำโดยที่เราไม่ควรจะต้องมาทนกับมันเพียงเพราะจะออกไปสังสรรค์และสนุกกับเพื่อน
เมื่อการล่วงละเมิดทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำกลายเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอ วันสงกรานต์เลยกลายเป็นข้ออ้างในการ “ปล่อยผี” โดยคิดว่าทุกคนที่ออกจากบ้านเพื่อมาเล่นน้ำหรือไม่ จะต้องยินยอม (consent) กับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นตามมา ในระหว่างเทศกาลนี้ที่การเล่นน้ำเป็นข้ออ้างในการรุกล้ำสิทธิของคนอื่นได้
เมื่อถามว่าพวกเราควรจะแก้ไขปัญหาอย่างไรให้สงกรานต์ปลอดการล่วงละเมิดทางเพศได้ล่ะ ?
อย่างง่ายที่สุดเราอาจต้องแก้ที่มารยาทพื้นฐาน อย่างการขออนุญาตก่อนจะฉีดน้ำหรือปะแป้ง ซึ่งเราไม่ได้คิดว่าเรื่องพวกนี้ทำให้การเล่นน้ำสนุกน้อยลง เพราะหลายๆ คนก็อยากสนุกกับงานรื่นเริงโดยที่ยังตระหนักถึงปัญหาต่างๆ และตั้งใจที่จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
ไม่ใช่แค่นั้นการแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในวันสงกรานต์ เราก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามแก้ปัญหาด้วย เราคิดอย่างไรกับผู้ถูกกระทำ เรายังตำหนิเสื้อผ้าเขาหรือไม่ การล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องปกติไปแล้วจริงหรือ แล้วเราเองเวลาไปเล่นน้ำ เราเคารพพื้นที่ส่วนตัว สิทธิและร่างกายของคนอื่นรอบตัวเราไหม หรือเวลาเราฟังเรื่องที่คนอื่นเล่าแล้วเรายังคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยอยู่หรือเปล่า
สงกรานต์คือเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ไทย ควรเป็นเทศกาลที่ทุกคนสามารถได้สนุกร่วมกัน โดยปราศจากความกลัว ไม่ได้มีไว้ให้แค่คนกลุ่มหนึ่งสนุกจากการรุกล้ำสิทธิของผู้อื่น
พวกเราในฐานะสมาชิกสังคมไทยเป็นผู้กำหนดค่านิยมเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ ดังนั้นอำนาจในในการเปลี่ยนแปลงเทศกาลนี้ อำนาจในการออกมาพูดว่า #สงกรานต์หน้าไม่เอาแบบนี้ ก็อยู่ในมือของเราเช่นกัน
Comments