top of page

มัดหมี่: วัฒนธรรมการรับน้องกับวัฒนธรรมข่มขืน



🎶 มัดหมี่ มัดหมี่ มัดหมี่ขูดมะพร้าวทำกับข้าวอยู่ในครัว มัดหมี่ไม่รู้ตัวถูกคนชั่วลากออกไป 🎶

หลังจากที่มหาวิทยาลัยต่างๆได้ทะยอยประกาศผลรับสมัครเข้าเป็นนิสิตปริญญาตรี เทศกาลรับน้องกำลังเข้ามา ถึงแม้ว่าเราจะเคยผ่านการรับน้องมาก่อน แต่เราก็ไม่สามารถพูดแทนประสบการณ์รับน้องของทุกคนได้  เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนที่เจอไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว บางคนก็ดี บางคนก็ไม่ดี แต่สำหรับในกรณีของเรา เราสามารถสนุกไปกับมันพร้อมๆกับวิจารณ์มันได้ 

ในการรับน้องจะมีการเต้นสันทนาการ ให้พี่มาเต้น แสดงสาธิตเพลงต่าง ๆ และน้องเต้นตาม การเต้นในลักษณะรับน้องนั้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในการละลายพฤติกรรม (ice breaking) เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างน้องใหม่และพี่ๆ


แต่ว่า เบื้องหลังเสียงกลองคองก้าและเสียงเชียร์แล้ว การรับน้องก็ไปเกี่ยวกับระบบโซตัส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเชิงโครงสร้างอำนาจที่ทำให้ผู้ที่อายุน้อยกว่าต้องยอมกระทำตามผู้ที่อายุมากกว่า เคารพต่ออำนาจนั้นแม้จะไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม 


โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันดังกล่าว ไม่ต่างจากโครงสร้างอำนาจซึ่งเป็นตัวผลักดันวัฒนธรรมการข่มขืน (Rape culture) ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าระบบโซตัสทำให้เกิดวัฒนธรรมดังกล่าวขึ้น แต่หมายความว่ามีบทบาททำให้วัฒนธรรมข่มขืนที่มันมีอยู่แล้วกลายเป็นเรื่องปกติของสังคม หรือเข้าไปส่งเสริมให้มีมากขึ้น


หากจะให้เปรียบสังคมปิตาธิปไตยกับการรับน้อง รุ่นพี่ที่มีอำนาจก็คือ เพศชาย ส่วนรุ่นน้องที่ไม่มีอำนาจก็คือเพศหญิง เมื่อผู้ชายเกิดความต้องการทางเพศ ผู้หญิงก็มีหน้าที่ต้องสนองโดยไม่โต้ตอบ ไม่ต่างอะไรจากเวลารุ่นพี่สั่งให้น้องเต้นสันทนาการ แม้รุ่นน้องจะไม่เต็มใจเต้นก็ตาม


เนื้อเพลงสันทนาการเอง ก็สะท้อนวัฒนธรรมข่มขืนเช่นกัน ที่ชัดเจนเลยก็คือเพลง “มัดหมี่” ที่ร้องว่ามัดหมี่ถูกคนชั่วลากตัวไป เอาไม้แหย่รู ถูๆ ไถๆ ฟังดูอาจจะไม่ได้เป็นพิษเป็นภัย แต่ว่าเนื้อหากำลังกล่าวถึงผู้หญิงที่กำลังถูก ข่มขืน การที่เพลงนี้ร้องกันในงานรับน้องอย่างแพร่หลายสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมองเรื่องข่มขืนเป็นเรื่องธรรมดา ซ้ำร้าย มองเป็นเรื่องตลก หลายคนคงบอกว่า เราจริงจังไปหรือเปล่า แต่อย่าลืมว่าความตลกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมข่มขืนยังอยู่ พาลให้นึกถึงเรื่องมุกตลกเกี่ยวกับการข่มขืนที่เราเรียกว่า rape joke (อย่างที่ทางเพจได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับกรณีข่าวเกี่ยวกับคุณโอ๋ ซุปเปอร์กลู ที่เล่นมุกข่มขืนเกี่ยวกับวง BNK48 ไว้ที่ https://tinyurl.com/y822r9jg)


ไม่ใช่แค่เนื้อเพลงรับน้องเท่านั้นที่มีปัญหา กิจกรรมรับน้องบางกิจกรรมก็น่าเป็นห่วง บางเกมบังคับให้ผู้ชายถอดเสื้อโชว์เนื้อหนังก็มี ซึ่งนับเป็นการล่วงละเมิดทางเพศได้ 

หรือเวลาแจวรับน้องแล้วถามว่า “ใครเป็นเกย์/ตุ๊ด/กะเทย/ทอม/ดี้ ลุกขึ้นมาแจว” อันนี้เราก็มองว่าเป็นการ ละเมิดสิทธิ์เหมือนกันด้านกรณีความหลากหลายทางเพศ เพราะบางคน เขาอาจไม่ได้พร้อมเปิดตัวก็ได้ แต่พี่ๆที่รู้ว่าน้องเป็น ก็จะไปขยั้นขยอให้น้องเปิดตัวกับเพื่อนๆทั้งคณะ ซึ่งเท่ากับไปบังคับเขาให้เปิดตัว ซึ่งในกรณีร้ายแรงก็นำมาซึ่งอันตรายต่อตัวน้องๆเหล่านั้นได้


ยิ่งไปกว่านั้น น้องๆที่เป็นกะเทยหลายๆคนถูกครอบโดยมายาคติที่ว่า เป็นกะเทยต้องเต้นเยอะๆ เต้นแรงๆ ซึ่งหลายๆคนก็ไม่ได้อยากเต้นเยอะๆ แต่กลับถูกครอบเพียงเพราะเพศสภาพของตน ในขณะที่น้องผู้หญิงที่เต้นเยอะๆ กลับไปขัดกับภาพลักษณ์ “กุลสตรี” โดนเหยียดว่า “แรง” เหมือนกัน ส่วนผู้ชายที่ไม่เต้น ก็มักจะโดนว่าว่า “ไม่แมน” ซึ่งนี่ก็เป็นการไปหนุนความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Muscilinity) อีก ว่าถ้าต้องการเป็น “ชาย” ต้องทำแบบนั้นแบบนี้ เป็นต้น


ทาง #เฟมินิสต์วันละหน่อย อยากให้รุ่นพี่ที่กำลังจัดกิจกรรมรับน้อง มาร่วมคิดกันว่า เราจะปรับปรุงการรับน้อง ไร้ซึ่งวัฒนธรรมการข่มขืน และเคารพสิทธิในร่างกายและการตัดสินใจของน้องๆ ได้อย่างไรบ้าง


#รับน้องสร้างสรรค์ 



Comments


©2020 by FeministNhoi. Proudly created with Wix.com

bottom of page