"น้ำหนักเท่าไหร่?" Body Shaming ในสังคมไทย
- Feminist Nhoi
- Jul 16, 2018
- 1 min read

คุณคุ้นหูกับคำถามเหล่านี้ไหม
“น้ำหนักเท่าไหร่”
“อ้วนขึ้นหรือเปล่าเนี่ย”
“ทำไมผอมขนาดนั้น”
หรือคำด่าอย่าง
“อีนมแบน, อีขาใหญ่, อีหน้าสิว, อีดำ”
กรณีที่ อร BNK48 ออกมาตอบคำถามเกี่ยวกับน้ำหนักลงใน Instagram Story กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก บ้างก็ออกมาตำหนิ บ้างก็ออกมาปกป้องอร แต่ไม่ว่าคำตอบของอรจะเหมาะสมหรือไม่ คำถามเรื่องน้ำหนักเป็นคำถามที่ไม่เหมาะสม
อรไม่ใช่คนแรกในวง BNK48 ที่ตกเป็นประเด็นเรื่องการเหยียดรูปร่าง (Body Shaming) ล่าสุด ตาหวาน BNK48 เอง ก็ถูกผู้ชมในการแสดงเธียเตอร์ตะโกนแซวว่า “ขาหมู” จนต้องออกมาระบายความรู้สึกในไลฟ์สด ซึ่งหนึ่งในคนที่ออกมาให้กำลังใจตาหวานผ่านโพสต์อินสตาแกรม ก็คืออร (อ่านเพิ่มเติมที่ : https://gmlive.com/Body-Shaming-tarwaan-BNK48)
คำพูดวิจารณ์เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาภายนอกในเชิงล้อเลียนหรือเหยียดเหล่านี้เรียกว่า “Body Shaming” ซึ่งถึงแม้ว่าคนส่วนมากในสังคมไทย อาจจะมองว่าเรื่องล้อเล่นขำๆ ถึงกระนั้น เราทุกคน ไม่ว่าจะเพศอะไร ต่างเคยตกเป็นเหยื่อของการ Body Shaming กันทั้งนั้น
ในกรณีของเรา สมัยเราเด็กๆ ทุกครั้งที่เจอญาติพี่น้อง มักโดนทักว่า “ตัวใหญ่” บ้าง “อ้วน” บ้าง ทั้งๆที่เรามีน้ำหนักจัดว่าสมส่วนมาโดยตลอด คำพูดที่ญาติพี่น้องคิดว่าเป็นแค่เรื่องหยอกล้อเหล่านี้ ทำให้เราป่วยเป็น Bulimia Nervosa ซึ่งเป็นอาการกลัวอ้วนชนิดหนึ่งหนึ่ง โดยอาการคือเวลาเรารับประทานอาหารมาก เราก็จะไปอาเจียนเอาอาหารออก เราทำอย่างนี้ซ้ำๆ เป็นเวลากว่า 5-6 ปี กว่าที่เราจะรู้ตัวว่าตัวเองป่วย ถึงได้ไปพบแพทย์และรักษาจนหาย
ทั้งๆที่รูปร่างหน้าตา “ภายนอก” ที่แตกต่างกันไม่สามารถเป็นเครื่องชี้วัดคุณค่า “ภายใน” ได้
เราเชื่อว่ามีคนอีกมากมายทีสูญเสียความมั่นใจในร่างกายของตัวเองไปเพราะคำพูดเหล่านี้
เราใช้เวลานานมากกว่าที่จะรู้สึกพอใจกับรูปร่างหน้าตาของตัวเอง โดยเราคอยบอกตัวเองว่า ถึงแม้ความงามจะมี “พิมพ์นิยม” ของมันอยู่จริง แต่ในขณะเดียวกันความงามก็เป็นอะไรที่ subjective คือขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ถึงแม้ว่าคนอื่นจะอาจจะมองว่าเราไม่สวย แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่ภูมิใจในร่างกายของตัวเองแล้ว อย่างน้อยตัวเราเองเราคนหนึ่งก็มองว่าเราสวย
(อ่านเกี่ยวกับวิธีการหลุดพ้นจาก Body Shame ได้ที่: http://moodytwenties.com/body-shame/)
เราต้องการให้ทุกคนเข้าใจว่า การล้อเลียนหรือถามเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาไม่ใช่เรื่องที่ตลกหรือเหมาะสมแม้แต่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องการให้พิมพ์นิยมความงามภายนอกที่หลากหลายมากขึึ้น แต่เป้าหมายสูงสุดของเราคือ เราต้องการให้สังคมไทยก้าวข้ามการตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอกและเคารพความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างหลากหลายค่ะ
Comments