top of page

ทำไมถึงเป็น “เฟมินิสต์?”

หลังจากที่โพสต์ “มัดหมี่” แพร่หลายออกไป มีคำถามเข้ามาในเพจเยอะ


“เพจนี้ Feminist แน่เหรอ คือไม่ได้แค่แฟร์กับผู้หญิง แต่แฟร์กับทุกเพศเลย” “คุณไม่ใช่ feminist หรือ activist เพราะคุณทำเพื่อทุกเพศโดยไม่สนว่าเป็นใคร” “ทำไมไม่ใช้คำว่า gender equality แทนล่ะ ในเมื่อไม่ได้เรียกร้องแต่เพื่อผู้หญิง”

หรือทั้งๆที่เพจชื่อ “เฟมินิสต์วันละหน่อย” ก็มีคำถามในทางกลับกันเข้ามาว่า “ทำไมต้องมีเฟมินิสต์ ทำไมไม่เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศให้ทุกเพศ” “ทำไมเพจเราคอนเท้นโดยส่วนใหญ่เกี่ยวกับผู้หญิง จะเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ก็ต้องทำเกี่ยวกับทุกเพศสิ แบบนี้ก็เขียนให้แต่ผู้หญิงเป็นเหยื่อ ไม่มีความยุติธรรม”


วันนี้เลยอยากจะมาคุยเรื่อง เฟมินิสต์กับความเท่าเทียมทางเพศเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ทำไมต้องมีขบวนการเรียกร้องสิทธิ “สตรี” แล้วเมื่อมีขบวนการเฉพาะทำไมยังเรียกร้องสิทธิให้เพศอื่นด้วย

ก่อนจะไปต่อเราอยากจะยกคำพูดของนักเขียนคนโปรด Roxane Gay ที่เขียนในเรียงความเรื่อง Feminism (Plural) จากหนังสือ Bad Feminist ที่เขียนไว้ว่า:


“We don’t have to believe in the same feminism. Feminism can be pluralistic and messy so long as we respect the different feminisms we carry with us, so long as we give enough of a damn to try and minimize the fractures between us.”


แปลเป็นภาษาไทยก็คือ

“เราไม่จำเป็นต้องเชื่อเฟมินิสต์แบบเดียวกัน เฟมินิสต์สามารถมีนิยามหลากหลายและทับซ้อนได้ก็ต่อเมื่อเราเคารพนิยามที่หลากหลายเหล่านี้ และพยายามลดช่องว่างระหว่าง [เฟมินิสต์] ด้วยกันเอง”

สำหรับแอดมิน เราเขียน เราสร้างเนื้อหาในฐานะเฟมินิสต์เพียงคนหนึ่งในกลุ่มเฟมินิสต์ในประเทศไทยมากมาย เราจะไม่เรียกร้องให้เฟมินิสต์ท่านอื่นๆเห็นด้วยกับความคิดเรา บทความนี้ก็เป็นอีกบทความในฐานะเฟมินิสต์กลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่า ถึงเวลาที่มีคนออกมาเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้ผู้หญิงแล้ว


วกกลับมาสู่เรื่องว่า “ทำไมต้องแยกเฟมินิสต์ออกจากการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ?”

อย่างแรกเลยเราคิดว่าความเท่าเทียมทางเพศคือผลลัพธ์ที่เราต้องการ เฟมินิสม์คือวิธีคือขบวนที่นำไปสู่ผลลัพธ์นั้น เราเชื่อว่าเพราะผู้หญิงเป็นเพศที่โดนกดขี่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ภายใต้ระบบปิตาธิปไตย หรือที่เรียกว่าสังคมชายเป็นใหญ่ (Patriachy)


ระบบนี้หน้าตาเป็นอย่างไร? ยกตัวอย่างให้ชัดเลยก็คือ สภาชิกสภาราษฏรที่ร่างกฎหมายและกำหนดแผนบริหารของประเทศ ที่สมาชิกประกอบไปด้วยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่มาโดยตลอด ทำให้ผู้หญิงในรุ่นคุณป้า คุณยาย หรือแม้แต่หญิงรุ่นใหม่เอง ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม ระบบนี้ทำให้มีโฆษณาขายกาแฟลดความอ้วนให้ผู้หญิง และคอมเมนต์ในเฟสบุ๊คเกี่ยวเสื้อผ้าผู้หญิงที่โดนข่มขื่น

ที่เขียนมาด้านบน เป็นปัญหาที่ค่อนข้างเฉพาะต่อผู้หญิง เกิดขึ้นจากการอยู่ใต้ระบบชายเป็นใหญ่ ที่ทำให้สังคมสร้างข้อกำหนดต่างๆให้แต่ละเพศเพื่ออยู่ในกรอบ ใน “หน้าที่” ของตนเอง และ “ระบบอำนาจ” ที่แบ่งแยกเพศ


ปัญหาเหล่านี้ฝังลึกในโครงสร้างสังคม (systematic and institutionalized) จนในหลายๆครั้งเรามองข้ามไปโดยที่ไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาเลย คิดว่ามันคือสิ่งที่เป็นอยู่และจะดำเนินต่อไป ทำให้ “ขบวนการสตรีนิยม” หรือ feminist movement มีบทบาทสำคัญในการระบุปัญหาเหล่านี้ให้คนในสังคมตระหนักและเริ่มทำความเข้าใจ


แต่ถ้าเราเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศก็ต้องรวมปัญหาเหล่านี้ไปแล้วสิ?

ถ้าเราจะเหมารวมปัญหาความเท่าเทียมทางเพศทุกอย่างแล้ว โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างการใช้ชีวิตในสังคมในฐานะผู้ชายและผู้หญิง และความฝังรากของการกีดกันคนบนพื้นฐานของเพศ ปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญ จะถูกลดลำดับความสำคัญและกลืนหายไปตามกาลเวลา เพราะระบบชายเป็นใหญ่ จะยังส่งผลต่อกรอบความคิด ต่อการเรียงลำดับแก้ปัญหา ทำให้เราเน้นแก้ปัญหาของผู้ชายก่อน และยังส่งผลให้เราเปรียบเทียบผู้ชายและผู้หญิงตามข้อกำหนดเดิม ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆกับผู้หญิงที่โดนกดขี่


เราคิดว่าการระบุข้อกำหนดสังคมต่างๆที่กีดกันผู้หญิงโดยเฉพาะ เพื่อนำตั้งคำถามว่า สังคมไทยสร้างข้อกำหนดเหล่านี้มาทำไม ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ แล้วทำไมข้อกำหนดเหล่านั้นไม่เป็นจริง จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้การทำลาย ภาพผู้หญิงไทยที่ต้องใช้ชีวิตภายในข้อกำหนดนั้น


ถ้าสนใจปัญหาของผู้หญิงแล้วเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศให้เพศอื่นทำไมละ?

อันนี้ขออนุญาติยกย่อหน้าท้ายสุดจากโพส Re: มัดหมี่มาตอบว่า

“การเป็นเฟมินิสต์ไม่ใช่ว่าเราจะเรียกร้องแต่ในกรณีที่เหยื่อเป็นผู้หญิง ที่เรียกว่าเฟมินิสต์ ก็เพราะว่าปัจจุบันนี้เพศหญิงเป็นเพศที่ถูกกดขี่ทางอำนาจในสังคมปิตาธิปไตย แต่ในกรณีที่ผู้ชายหรือ LGBTQ+ ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม เราเองก็ต้องออกมาพูดเหมือนกัน เพราะเราไม่ได้ต้องการให้ผู้หญิงเหนือกว่าผู้ชาย แต่เราต้องการให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศค่ะ”


แล้วแบบนี้ก็โทษผู้ชายสิ?

การยอมรับปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้แปลว่ายอมรับว่าผู้ชายเป็น “ผู้กระทำความผิด” เช่นเดียวกันการยอมรับว่าปัญหาเหล่านี้มีอยู่จริงไม่ได้แปลว่าเพศอื่นไม่เคยโดนเหยียดทางเพศโลกเราไม่ได้ขีดเส้นแบ่งเป็นสองฝั่งของผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำ โลกเรามันละเอียดอ่อนและซับซ้อนกว่านั้น เส้นระหว่างสองบทบาทนี้สลับไปมา หรือในบางครั้งก็บางมากจนทั้งสองบทบาทอยู่ภายในคนคนเดียวกัน


ดังนั้นในการเข้าใจปัญหาสังคม โดยสภาพจึงเป็นการต่อสู้กับค่านิยมที่เป็นอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการต่อสู้กับความคิดของตนเองที่ถูกหล่อหลอมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับค่านิยมเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว

นี้หมายความว่า สังคมปิตาธิปไตยนี้ เอื้อให้ผู้ชาย “เหยียดเพศ” ได้ แต่ถ้าผู้ชาย สามารถต่อสู้กับความคิดของตนเองที่ถูกหล่อหลอมมาจากค่านิยมปิตาธิปไตย ทำความเข้าใจเฟมินิสม์ และเป็นเฟมินิสต์ได้ พวกเราก็จะสามารถสร้างความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างแท้จริง


บทความถูกตีพิมพ์ครั้งแรก เดือนกรกฎาคม 2018

Comentarios


©2020 by FeministNhoi. Proudly created with Wix.com

bottom of page